ทางสงบ
ในโอกาสต่อไปนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังให้เกิดสติปัญญาตามสมควรแก่เวลา
(ให้รู้จักทุกข์)
โดยทั่วไปคนเราไม่ต้องการความทุกข์เกลียดความทุกข์ แล้วทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร ทุกข์เกิดขึ้นได้เพราะเราไม่รู้ ทุกข์นั้นไม่ได้มีอยู่ที่ตัวเรา และไม่ได้เกิดอยู่เสมอไป ความมีอยู่จริงแท้แน่นอนนั้น คือ ความปกติ โดยธรรมชาติ จิตใจของคนแต่ละคนอยู่ในภาวะที่ปกติ ในขณะที่เราทำงาน ถ้าทำด้วยความหลงผิดแล้ว เรียกว่าความทุกข์ทั้งนั้น คนส่วนมากทำงานด้วยความทุกข์เพราะไม่เห็นทุกข์นั่นเอง คนที่ไปดูหนังดูละครนั้น ไปเพราะทุกข์พาไป เนื่องจากเราไม่ได้มองจิตใจของเราเอง ขณะที่เราอยากไปดูหนังนั้น มันคิดขึ้นมาเพียงวูบเดียวเท่านั้นว่าอยากไปดูหนัง ไม่ได้คิดอยู่ตลอดวัน เมื่อคิดแล้ว เราไม่ได้เห็นความคิด เราเพียงแต่รู้ความคิด แล้วเราก็ทำไปตามความคิดนั้น จึงเรียกว่าไปด้วยทุกข์ คนสูบบุหรี่ก็เหมือนกัน บางทีเขาไม่ได้คิดที่จะสูบบุหรี่เลย แต่เขาทำไปตามอารมณ์ เขาเอาบุหรี่ขึ้นมาสูบกันเพราะคิดว่าเป็นความสุข แต่ความจริงนั้นทุกข์บังคับให้ทำไป
(ทุกข์คือความเหม็น)
คำว่าทุกข์นี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า ทุกข์บ้าง กิเลสบ้าง ของเหม็นบ้าง เวลาพูดถึงทุกข์หรือกิเลสรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าเกลียด ตามความหมายของพุทธศาสนา ความทุกข์คือของสกปรกของเหม็น ไม่มีใครต้องการ คนเราพอตายแล้วก็เน่าเหม็น แต่เราก็ยังช่วยกันชำระล้างได้ ส่วนอุจจาระเป็นของเหม็นที่เรารังเกียจมาก ไม่มีใครอยากจับอยากแตะต้อง แต่ของเหม็นถึงขนาดนี้พระพุทธเจ้ายังบอกว่ายังไม่เหม็นเท่าไหร่ ยังจับได้ยังล้างออกได้ ของเหม็นที่พระพุทธเจ้าท่านว่าเหม็นจริงๆ นั้น คือความโกรธ ความโลภ ความหลง ที่มันแอบแฝงเกิดขึ้นมาภายในจิตใจของเรา อันนี้ท่านเกลียดมาก ถ้าจิตใจของผู้ใดยังมีความโกรธความโลภความหลงอยู่ ท่านว่าเหม็นยิ่งกว่าอุจจาระ เสียด้วยซ้ำ
คนที่ไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ พอจิตใจคิดขึ้นมาวูบเดียวเท่านั้นความหลงผิดก็เกิดขึ้นทันที การเกิดเช่นนี้พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นมลทิน คำว่า “มลทิน” ก็คือ “ความหลงผิด” นั่นเอง ทั้งที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นไม่เคยดูจิตใจของเรา เราก็ยังพูดเอาเองว่า “เราเห็น” แต่ที่จริงไม่ใช่ “เห็น” เป็นเพียง “รู้” ว่าคิดอะไรเท่านั้น เสร็จแล้วก็ทำไปตามความคิดนั้น ถ้าพูดว่า “เห็น” ต้องหมายถึงว่าเราเห็นกิเลส คือเห็นว่าในความคิดนั้นมันมีความโกรธความโลภความหลงอยู่ด้วยหรือเปล่า คนจะเห็นอย่างนี้ได้ต้องมาปฏิบัติธรรมเสียก่อน
การปฏิบัติธรรม
(วิปัสสนา)
การปฏิบัติธรรมนั้น ถึงแม้จะปฏิบัติโดยแบบวิธีใดเท่าใดก็ตาม ถ้ายังไม่ได้เข้ามาจับจุดที่จิตใจที่กำลังปรากฎอยู่นี้ ก็แสดงว่าเรายังไม่เห็น-ไม่รู้-ไม่เข้าใจ กล่าวคือ ยังไม่เข้าใจในหลักของการปฏิบัติธรรมตามแบบคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่นั้นเอง พระองค์ได้ตรัสบอกเอาไว้ว่า เพราะพระองค์บำเพ็ญทางจิตกล่าวคือปฏิบัติทางจิต จึงได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงอย่างนั้นคนเราส่วนมากก็เพียงทำบุญให้ทานเพื่อที่จะไล่ความทุกข์ ยังไม่ได้มาปฏิบัติตามแบบของพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านยังเคยตรัสไว้อีกว่า
“ทำบุญร้อยครั้งพันหน อานิสงส์ยังไม่เท่าการรักษาศีลเพียงครั้งเดียว รักษาศีลร้อยครั้งพันหน อานิสงส์ก็ยังไม่เท่ากับการทำสมถกรรมฐานให้จิตใจสงบเพียงครั้งเดียว การทำสมถกรรมฐานให้จิตใจสงบร้อยครั้งพันหน ยังไม่เท่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพียงครั้งเดียว”
วิปัสสนา หมายถึงอะไร?
วิปัสสนา หมายถึง ความรู้แจ้งเห็นจริงต่างเก่าล่วงภาวะเดิม เพราะภาวะเดิมเป็นภาวะที่ไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจไม่แจ่มแจ้ง หรือจิตใจของเรายังขุ่นมัวอยู่นั่นเอง การทำวิปัสสนานี้ก็หมายถึงการทำความรู้สึกตัว การทำความรู้สึกตัวนี้ มีอานิสงส์มาก พระองค์ท่านก็ทำความรู้สึกตัวเป็นการปฏิบัติธรรม และสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
(ความสงบ)
คนเราส่วนมากเข้าใจว่า การจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้นต้องทำสมถกรรมฐานให้จิตใจสงบ อันที่จริง ความสงบนั้นมันมีอยู่ ๒ อย่างคือ (๑) สงบเหมือนเข้าไปอยู่ในถ้ำ (๒) สงบเหมือนเราออกจากถ้ำ
สงบแบบอยู่ในถ้ำนั้นก็หมายความว่า เหมือนกับเราอยู่ในถ้ำหรืออยู่ในความมืดในห้องมืด พอเราจุดไฟ ความมืดจะหายไปความสว่างเข้ามาแทนที่ แต่พอดับไฟความมืดก็เข้ามาอีก ดังนั้น ถึงแม้เราจะจุดไฟมีความสว่างแล้ว แต่เราก็ยังอยู่ในถ้ำ เรายังไม่สามารถจะเห็นรูปร่างของถ้ำได้ เราเพียงเห็นสิ่งของบางอย่างภายในถ้ำเท่านั้น ความสงบแบบอยู่ในถ้ำจึงเรียกว่า สงบอยู่ใต้โมหะ หรือสงบแบบไม่รู้หรืออยากไม่รู้นั่นเอง ดังนั้น การที่บางคนไปนั่งให้จิตใจสงบแล้ว เข้าใจว่าตัวเองได้เจริญวิปัสสนา อย่างนี้ก็จริง แต่เป็น “จริงชนิดอยู่ในถ้ำ” ดังกล่าวแล้วนี้เอง
ส่วนสงบแบบออกจากถ้ำ ก็เหมือนกับเมื่อเราออกไปอยู่นอกถ้ำแล้วมันก็ไม่มืด ไม่ต้องจุดไฟก็ได้ และเราก็จะสามารถมองเห็นและรู้ว่าถ้ำนั้นมีรูปร่างสัณฐานอย่างไร เปรียบได้กับความสงบที่ปราศจากความหลงผิด กล่าวคือ สงบจากกิเลส ไม่มีโทสะโมหะโลภะนั้นเอง การจะสงบแบบนี้ได้เราต้องรู้แจ้งเห็นจริงเสียก่อน การรู้แจ้งเห็นจริงนั่นแหละเรียกว่าวิปัสสนา วิปัสสนาแปลว่ารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง การสงบแบบออกจากถ้ำนี้จึงเรียกว่า สงบแบบรู้ รู้แล้วก็สงบ
อาตมาจึงขอเตือนจิตสะกิดใจท่านทั้งหลายว่า การเจริญวิปัสสนานั้นมีอุปสรรคมาก ถ้าเราไม่รู้เราก็ทำไปผิดๆ ต่อเมื่อเราเห็นเรารู้เราเข้าใจแล้ว เราจึงจะแก้ปัญหานี้ได้
(อุปสรรคประการแรก)
อุปสรรคประการแรกของการเจริญวิปัสสนา นั้น ก็คือ เมื่อเราทำความเคลื่อนไหวรูปกายและมีสติรู้เท่าทันมันก็มีปัญญาปรากฏขึ้นที่ใจทำให้รู้เรื่องตามความเป็นจริง คือ รู้รูป-นาม รู้ทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตา รู้สมมติ รู้ศาสนา รู้พุทธศาสนา รู้บาป รู้บุญ อันนี้เป็นปัญญาของวิปัสสนารู้ แต่เป็นเพียงวิปัสสนาเปลือกๆ จึงยังเอามาแก้ทุกข์ไม่ได้ เป็นเพียง “รู้อยู่ในความรู้” คือ รู้คิดโน้นคิดนี้ รู้ในตำรับตำรา มันเป็นวิปัสสนูปกิเลส อุปสรรคก็คือว่า เมื่อความรู้ชนิดนี้เกิดขึ้นแล้วเราก็เข้าไปฝังอยู่ในความรู้ชนิดนี้ จึงเป็นเพียงความรู้ที่ยังเหมือนกับอยู่ในถ้ำ ดังนั้น เราต้องพยายามหาวิธีออกจากถ้ำหรือถอนตัวออกจากความรู้นั้นต่อไป โดยการออกมาคอยเฝ้าดูความคิดของเรา พอมันคิดอะไรวูบขึ้นมา ก็ให้เรารู้เราเห็นเราเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นแล้ว นี่เป็นการปฏิบัติธรรมขั้นลึกเข้าไปอีกหน่อย
ปกติต้นไม้ ประกอบด้วยเปลือกชั้นนอก เอาเปลือกชั้นนอกออกก็จะถึงชั้นที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ภายใน เอาน้ำออกจึงจะถึงเนื้อไม้สีขาว เอาเนื้อไม้สีขาวออกจึงจะถึงแก่นของไม้ ศาสนาก็เหมือนกัน ความรู้เรื่องรูปนามบาปบุญนั้นเป็นความรู้เหมือนกัน แต่เป็นความรู้ชั้นเปลือกๆ พอแก้ทุกข์ได้ขั้นหนึ่ง คือ จะไม่งมงายไม่เชื่อเรื่องฤกษ์งามยามดี ไม่เชื่อผีสางเทวดา แต่ยังมีความโกรธความโลภความหลงอยู่ เพราะไม่รู้สมุฏฐานหรือต้นเหตุที่มันเกิดขึ้นมา
การที่จะมาแก้ไขอุปสรรคดังกล่าว การที่จะรู้ต้นเหตุของการเกิดความโกรธความโลภความหลงนี้ เราต้องมาคอยเฝ้าดูจิตใจของเราทำเหมือนแมวคอยจ้องตะครุบหนู พอจิตใจมันคิดขึ้นมาเราคอยจ้องคอยมองให้รู้ทัน คิดขึ้นมาปุ๊บ รู้ทัน ตัดไปเลย อย่าให้มันปรุงแต่งต่อไป คิดขึ้นมา ตัดไปเลย คิดขึ้นมา ตัดไปเลย ทำอย่างนี้บ่อยๆ ความคิดจะลดน้อยลงไป สติจะเพิ่มมากขึ้นๆ เหมือนบวกกับลบ เมื่อบวกมากขึ้นลบก็น้อยลง อย่างเช่นทีแรกเราไม่เคยเห็นความคิดเลย เรียกว่าคิดมาร้อยเรื่องก็ไม่เคยเห็นแม้แต่เรื่องเดียว พอเรามาคอยจ้องดูแบบนี้ เราจับได้ ๑ ครั้ง แล้วเราตัดมันไป ความคิดก็เหลือไม่ถึง ๑๐๐ ครั้ง มันจะลดน้อยลงไปๆ เรื่อยๆ ตราบที่เราทำอยู่ เป็นขั้นเป็นตอนไป
เราคอยจ้องมันอยู่อย่างนี้แหละ มันคิดมาตัดทิ้งไป คิดมาตัดทิ้งไป มันคิดมา ๑๐๐ เรื่อง เรารู้เสีย ๙๕ เรื่อง แสดงว่าเรามีสติมาแล้ว เราจับไม่ทันเพียง ๕ เรื่องเท่านั้นเอง เราต้องพยายามทำอยู่ที่ตรงนี้แหละ คอยดูความคิด แต่อย่าเข้าไปอยู่ในความคิด เมื่อเรารู้ทันความคิดได้ทันทั้ง ๑๐๐ เรื่อง คือทันความคิดทุกครั้งทุกคราว ก็เท่ากับว่าเราได้รู้ได้เห็นว่าความโกรธความโลภความหลงมันเกิดขึ้นที่ตรงนี้ เราก็ต้องตัดมันไป กิเลสก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เรียกว่า รู้เท่า-รู้ทัน-รู้จักกัน-รู้จักแก้ ตอนนี้เป็นตอนที่เราแก้ความโกรธความโลภความหลงได้
กิเลสจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะเราหลงที่ตรงนี้ เราไม่รู้สมุฏฐานที่ตรงนี้ แม้คนนั้นจะเข้าวัดฟังธรรม ให้ทานรักษาศีลเจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐานก็ตาม ถ้าบุคคลนั้นยังไม่เคยเห็นความคิดของตัวเองแล้วก็แสดงว่าผู้นั้นยังไกลจากสัจจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ในทางตรงกันข้าม คือเขาไม่เคยเข้าวัดไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยให้ทานไม่เคยรักษาศีล แต่เขาทำความรู้สึกภายในจิตใจของเขาเสมอไป จิตใจมันคิดนึกอะไร เขารู้เท่า-รู้ทัน-รู้จักกัน-รู้จักแก้-รู้จักเอาชนะ ได้ทุกครั้งทุกคราว คนนี้แหละ ได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้าใกล้สัจจธรรมหรือธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า
เราเคยได้ยินไหมที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า ธรรมะมีอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังไม่มีบุคคลผู้มีปัญญาที่จะขุดค้นขึ้นมาก็เลยยังหาไม่เจอ เมื่อหาไม่เจอแล้วก็พากันมาทำบุญให้ทานรักษาศีลและทำสมถกรรมฐานไปเพื่อให้เป็นนิสสัย เป็นบุญเป็นกุศลสะสมไว้ชาติหน้าหรือข้างหน้า เราเชื่อกันมาอย่างนี้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนอย่างนี้ พระองค์สอนให้มาเห็นจิตเห็นใจตัวเอง
พวกเราคงเคยได้ยินกันมาแล้ว เรื่องพระวักกลิติดพระรูปของพระพุทธเจ้าแต่ไม่เคยดูจิตดูใจของตัวเอง เมื่อถูกพระพุทธเจ้าประณามจึงน้อยใจจะไปกระโดดเหวตาย พระองค์จึงไปห้ามไว้แล้วสอนว่าเกิดเป็นคนนั้นยาก เมื่อเป็นคนแล้วการที่จะได้ฟังธรรมจากสัตบุรุษก็ยากยิ่ง แล้วตรัสว่าอันนี้เป็นเพียงรูปกาย ตายแล้วเน่าเหม็นเปื่อยไปเหมือนกัน ไม่ใช่พระพุทธเจ้า ตัวพระพุทธเจ้าจริงๆ นั้นในตัวพระวักกลิเองก็มี กล่าวคือ ธรรมะนี้มีอยู่ในคนทุกคน ซึ่งก็คือ ความสะอาด-สว่าง-สงบนั่นเอง นั่นแหละพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา, ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเรา แม้จะจับชายจีวรหรือนิ้วมือเราอยู่ก็ไม่เห็นเราตถาคต” พระวักกลิได้สติขึ้นมา ก็กลับมาทำธุระทางจิตทางใจและได้เห็นความคิดตัวเอง
(เห็นธรรม)
อาตมาขอเตือนอีกสักครั้งหนึ่งว่า คำว่าเห็นธรรมนั้นหมายถึงให้เราเห็นจิตใจของเราในขณะที่เรากำลังทำ-กำลังพูด-กำลังคิด นั่นแหละจึงจะเรียกว่าเราเห็นธรรมะ และอาตมากล้ายืนยันได้ว่า ธรรมะตัวชีวิตจิตใจนี้มีอยู่ในคนทุกคนไม่ยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย ภิกษุ หรือสามเณร คนชาติไหนภาษาใดนุ่งห่มผ้าสีอะไรก็มีเหมือนกันหมด ธรรมะคือการกระทำด้วยกาย-วาจา-ใจ การทำด้วยกายนั้นคนอื่นมองเห็น ทำด้วยวาจาคนอื่นฟังได้ แต่การทำด้วยใจนั้นคนอื่นไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ จะเห็นได้ก็แต่เฉพาะตนเองคนเดียวเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ พระวักกลิเห็นแล้วท่านก็สบายใจ จะเห็นพระรูปพระวรกายพระพุทธเจ้าหรือไม่เห็นก็มีความสบายใจ เพราะท่านได้เห็นพระพุทธเจ้าตัวจริงแล้ว คือเห็นจริงตามความเป็นจริง เพราะมีอยู่ในคนทุกคน
การเห็นเช่นนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสอุปมาไว้คราวหนึ่งว่าเปรียบเหมือนดอกไม้ จะเป็นสีดำสีแดงสีขาวหรือสีอะไรก็ตาม ย่อมพร้อมที่จะบานได้เมื่อแสงแดดส่องเข้ามา ซึ่งอันนี้มันเป็นเรื่องสมมติ ที่อาตมาได้ให้ข้อคิดเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจท่านทั้งหลายในขณะนี้ก็เหมือนกัน ทุกคนเอาไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน จะเป็นผู้หญิงผู้ชายนุ่งห่มสีอะไรก็ตาม นับถือศาสนาใดก็ตาม เอาไปใช้ได้เหมือนกันหมดเพราะว่าคนเรามีกายกับใจ เมื่อใดมองเห็นจิตใจของตัวเองในขณะที่มันนึกมันคิด แสดงว่าได้เห็นสมุฏฐานหรือต้นเหตุของความคิด ท่านชี้ให้เราเอาสติเข้ามาดูความคิด แต่อย่าเข้าไปอยู่ในความคิดนั้น บุคคลใดเห็นได้เช่นนี้แหละ พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า “ดอกไม้ที่พร้อมแล้วที่จะบานได้ตามต้องการเมื่อแสงแดดส่อง” คำว่า “แสงแดด” หมายถึง คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ชี้ลงมาให้เราปฏิบัติทางจิต
จะทำการงานอะไรก็ให้เอาสติเข้ามาควบคุมอยู่ในความคิดนั้น บางคนยังไม่เอาไปทำก็ได้เหมือนกัน เพราะยังไม่สนใจ เมื่อเราสนใจ เรามีความทุกข์ เราต้องพร้อมที่จะเอาไปทำได้ คำสอนของพระพุทธเจ้ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น มิใช่มีไว้ให้เราท่องจำแล้วนำไปทำพิธีรีตองอื่นๆ ท่านไม่ได้มีความมุ่งหมายอย่างนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เป็นเครื่องรางของขลังศักดิ์สิทธิ์แต่ประการใด แต่มีไว้ให้เรานำไปปฏิบัติเพื่อแก้ทุกข์ทางใจเท่านั้น
บางคนอาจแย้งขึ้นมาว่า ถ้าไม่มีพิธีรีตองจะเป็นพุทธศาสนาดับทุกข์ได้หรือ อันนี้เป็นการเข้าใจความหมายที่ไม่ถูกต้อง เราคงเคยได้ยินมาแล้วว่า ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมให้ประชาชนฟัง พอเทศน์จบปรากฎว่ามีผู้ได้ดวงตาเห็นธรรมได้กระแสพระนิพพานตั้งแต่พระโสดาบันบุคคลขึ้นไปก็มีมาก โดยไม่ต้องไปทำพิธีรีตองอะไรนอกจากทำทางจิตทางใจตามที่พระองค์ทรงชี้แนะ การไปแสดงธรรมที่ไหน ถ้าเราไม่ชี้มาที่จุดนี้ คำพูดนั้นก็เป็นมลทิน ทำไมจึงว่าเป็นมลทิน เพราะว่าไม่ได้ชี้เข้าไปที่จุดซึ่งบุคคลผู้สนใจจะได้นำไปปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ดับกิเลสได้ และเป็นมลทินเพราะว่าเป็นการทำลายคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามทำความเข้าใจประเด็นนี้ให้ได้ ถ้าเราไม่เข้ามาทำที่จุดนี้ ก็ได้ชื่อว่าเราเองคนหนึ่งที่ยังไม่เข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า
(อุปสรรคประการที่สอง)
อุปสรรคประการที่สองของการเจริญวิปัสสนาก็คือ เมื่อเราเริ่มเข้าใจในจุดนี้ ได้เห็นจุดนี้แล้ว เราก็จะสามารถทำลาย ความโลภ-ความโกรธ-ความหลง หรือ โลภะ-โทสะ-โมหะได้บ้าง พร้อมกันนั้นก็จะเกิด “ปีติ” แฝงตัวเข้ามาด้วย อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านก็ว่ายังไม่ถูก ปีตินั้นก็เป็นความมืด เรียกว่า มืดสีขาว ปีติเกิดเนื่องจากเราเกิดความพอใจความภูมิใจว่าเราทำได้ มืดสีขาวนี้น่ากลัวเพราะมองเห็นยาก ส่วนมืดสีดำนั้นมองเห็นได้เร็วเพราะมันมืดมันไปไม่ได้ ตัวปีตินี้ เรียกว่า เห็นผิดเป็นถูก เพราะพอเราทำลายกิเลสได้ เราไม่ได้คอยจ้องคอยดูอยู่ตรงจุดที่กิเลสถูกทำลาย แต่เราเข้าไปอยู่ตรงจุดที่ปีติเกิดขึ้น ปีติจึงเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุมรรคผลนิพพานขั้นสูงขึ้นไป การที่เราเข้าไปอยู่ในปีติก็เท่ากับเราเข้าไปอยู่ในความคิดนั่นเอง เราคิดขึ้นมา เราเข้าไปอยู่ในความคิด เราจึงมองไม่เห็นความคิด ดังนั้น เมื่อเราเข้าไปอยู่ในปีติ เราจึงไม่เห็นปีติ แล้วก็พอใจอยู่ในปีตินั้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงสอนให้เราถอนออกจากความคิด (ทุกประการ) ที่กำลังคิดนึกอยู่นั้น ออกมาข้างนอก แล้วเราจะได้เห็นความคิดของเรา
คนเรายังไม่รู้ไม่เห็นความคิดของตัวเอง เขาก็จะพูดว่าเขารู้ความคิดเหมือนกัน แต่อันที่จริงเขาไม่เข้าใจว่าความคิดมันคิดไปเรื่อยๆ แล้วเขาก็เข้าไปอยู่ในความคิด คนที่มีปีติหรือติดความสงบในสมถกรรมฐานนั่นก็เหมือนกัน เขาไปติดความสงบ เขาไม่รู้ว่าความสงบนั้นเป็นความหลงผิด เขาก็เลยเข้าไปอยู่ในความสงบนั้น เหมือนคนที่เปิดไฟฟ้าไม่เป็นก็ไปจับไปหมุนอยู่ที่หลอดไฟจึงไม่ได้แสงสว่าง ส่วนคนที่ถอนออกจากความคิดมารู้เห็นความคิดของตัวเอง เปรียบเหมือนกับคนที่เปิดไฟฟ้าเป็น เขาก็จะเปิดที่สวิตช์ จึงได้แสงสว่าง ฉะนั้น เราต้องรู้จักสมุฏฐานของความคิด และทำความเข้าใจกับความคิดน้อยๆนี้ แล้วมันจะมีความสามารถเป็นดังแสงตะเกียงหรือแสงไฟ ทำความสว่างจ้าขึ้นมาภายในจิตใจ เหมือนกับที่เราเปิดไฟฟ้าที่สวิตช์ฉันนั้น
เมื่อเรามามองในจิตใจของเราแล้ว ความโกรธความโลภความหลงก็จะไม่มี ขณะใดที่เราเผลอเราไม่ได้มอง ความโกรธความโลภความหลงก็จะเข้ามาได้ ทำให้เราหลงผิด อุปมาเหมือนรถยนต์ที่กำลังวิ่งอยู่บนถนน ตรงจุดที่รถวิ่งผ่านไปแล้ว จะมีลมเกิดขึ้นพัดตามหลังรถไป ใบไม้ฝุ่นละอองก็จะปลิวตามหลังรถไปด้วย อันความโกรธความโลภความหลงมันคิดขึ้นมานั้นก็วูบเดียวเท่านั้น เราก็ทำไปตามสิ่งเหล่านั้น แต่กระนั้นบุคคลผู้นั้นก็ยังพูดว่าเขารู้ความคิดอยู่นั้นเองซึ่งความจริงแล้วเขาไม่ได้เห็นความคิด เพราะเขาเข้าไปอยู่ในความคิดนั้นเสียเอง
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ผู้ใดไม่เห็นความคิดของตัวเองเป็นคนประมาท ความประมาทเป็นพิษร้ายต่อชีวิตของตัวเองเปรียบเหมือนคนตายแล้ว นี่แหละที่อาตมาว่าของเหม็น พระพุทธเจ้าท่านว่า เหม็นอะไรก็ไม่เหม็นเท่าจิตใจที่มีความโกรธความโลภความหลง จิตใจที่เป็นมลทิน ซึ่งก็คือจิตใจที่สกปรกนั่นเอง ตัวจิตใจของเราจริงๆ นั้นมันไม่ได้สกปรกมันไม่ได้เป็นมลทินอะไรเลย เหมือนหลอดไฟฟ้า ไส้ไฟฟ้าในหลอดไม่ได้สกปรก เพียงแต่มีฝุ่นละอองมาจับที่หลอดข้างนอกของมันเท่านั้น ข้างในยังสว่างเหมือนเดิม หรือเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ความสว่างยังคงเดิม แต่เมื่อมีเมฆมาบดบังแสงที่ส่องมายังโลกขณะใดก็ทำให้มืดไปเท่านั้น
(วิชชา-อวิชชา)
คนที่ไม่เห็นความคิดเข้าไปอยู่ในความคิดนั้น เรียกว่าอยู่ในวงของปฏิจจสมุปบาท เป็นผู้ไม่รู้ เราคงเคยได้ยินกันมาแล้วว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนาม-รูป นาม-รูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรา มรณะ ทุกข์ ฯลฯ มันเป็นวงไป “อวิชชา” แปลว่าผู้ไม่รู้ ที่เราว่าเรารู้ แต่เราไม่ได้เห็นจิตเห็นใจของเรานั้น เราเข้าไปอยู่ในความคิดของเราต่างหาก ส่วนคำว่า “วิชชา” หมายถึง ผู้รู้ – คือ เห็นความคิดของตัวเอง พอคิดขึ้นมา เราเห็น มันหยุด เหมือนแมวกับหนู ถ้าบ้านเราไม่มีแมว หนูมันก็ไม่กลัว แต่พอเราเอาแมวมาเลี้ยงไว้ พอหนูโผล่ออกมาแมวก็จับ พอแมวจับ หนูมันตกใจมันขาดใจตาย แม้แมวจะไม่ได้กัดมันๆ ก็ตายได้ เพราะตกใจเนื่องจากมันไม่เคยถูกแมวจับ อันนี้ก็เหมือนกับที่เราจดจ้องดูความคิดดูจิตดูใจของเรา พอคิดมา รู้ทันมันจะหยุดชะงักทันที มันไม่สามารถปรุงแต่งต่อไปได้ เรียกว่า “วิชชา” คือรู้เท่า รู้ทัน รู้จักกัน รู้จักแก้ รู้จักเอาชนะได้ เหมือนแมวกับหนูนั่นเอง
ดังนั้น การฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่พิจารณาแล้วเราจะไม่เข้าใจ เราจะเอาคำสอนไปถกเถียงไปโต้วาทีกัน เอาความรู้มาแข่งขันกัน ซึ่งไม่ถูกต้อง ถ้าใครเรียนแล้วนำความรู้มาใช้เป็นเครื่องมือคอยประหารกิเลสหรือแก้ทุกข์ อย่างนี้จึงจะถูกต้องตามพุทธประสงค์ ทุกวันนี้ เราเรียนเป็นนักธรรมตรีโทเอกเป็นมหาเปรียญกัน เป็นถึงเปรียญ ๙ ก็มี บางท่านอาจจะได้ดูความคิดของตัวเอง แต่บางท่านอาจจะไม่เคยดูเลยก็ได้ ผู้ใดที่เรียนมาแล้วไม่เคยเห็นความคิดของตัวเองนั้น ท่านว่าเหมือนกับมอดที่เจาะหนังสือกิน ทางฝ่ายโลกก็เช่นเดียวกัน เรียนประถมมัธยมเรียนจนจบปริญญาตรีโทเอกจบดอกเตอร์ แต่ยังไม่เคยดูจิตดูใจตัวเอง เคยรู้แต่ของคนอื่น ของตัวเองไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น อย่างนี้ในทางพุทธศาสนาไม่ถือว่าเป็นบัณฑิต เพราะความรู้เหล่านั้นมีประโยชน์ทางโลกเพียงอย่างเดียวไม่ได้มีประโยชน์ทางจิตใจ เมื่อเราเรียนได้ปริญญาโทเอกแล้ว เราควรเอามาจัดการกับข้างในของเราด้วย คือการกำจัดกิเลส ทั้งกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลางและอย่างละเอียด
(การทวนกระแสความคิด)
พวกเราคงเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงเคยปฏิบัติโดยวิธีทรมานพระองค์มาก่อน แล้วทรงเห็นว่าเป็นวิธีที่ผิดจึงได้เลิกทำทุกรกิริยา และต่อมาก็ทรงฉันข้าวที่นางสุชาดาจัดมาถวาย พระองค์ทรงถามนางว่าจะถวายเฉพาะข้าวหรือถวายรวมทั้งถาดและขันด้วย นางก็ตอบว่าถวายทั้งหมด เมื่อพระองค์ฉันเสร็จแล้วจึงเอาขันไปอธิษฐานที่ริมแม่น้ำว่า ถ้าพระองค์จะได้บรรลุธรรม ขอให้ขันที่วางลงบนผิวน้ำลอยทวนกระแสของน้ำขึ้นไปฯลฯ ข้อความเหล่านี้เป็นบุคคลาธิษฐาน คือเอาสิ่งที่เป็นรูปธรรมเป็นข้อเปรียบเทียบเท่านั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้าเอาขันไปลอยน้ำแล้วขันลอยทวนกระแสของน้ำขึ้นไปจริงๆ
“ถาดขัน” ในที่นี้ก็คือ “ธาตุขันธ์” คือจิตใจ “น้ำ” คือกิเลส การบำเพ็ญทางจิตของพระองค์เป็นการกระทำที่ยาก เปรียบได้กับ “การทวนกระแสน้ำ” คือพระองค์ไม่ได้ปล่อยจิตใจไปตามกิเลส “กระแสน้ำ” คือกระแสความคิด การไปตามกิเลสนั้นง่าย ทุกคนไปตามกิเลสอยู่แล้วจึงได้รับแต่ความทุกข์ พระองค์ได้ปฏิบัติโดยทวนกระแสของกิเลสเพื่อดับทุกข์ โดยการเฝ้าดูจิตใจ เห็นจิตใจของพระองค์เองที่กำลังนึกกำลังคิด พอคิดขึ้นมา มันอยากทำตามที่ตาเห็นจมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รสกายถูกสัมผัส ฯลฯ พระองค์เห็นว่าความคิดนั้นเป็นกิเลส การปฏิบัติ พระองค์ก็ทวนกระแสของความคิด คือไม่ทำไปตามความคิดที่อยากจะทำ พระองค์ปฏิบัติอย่างนี้แหละญาณจึงได้เกิดมีขึ้นในพระองค์และได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งที่พระพุทธเจ้าชี้บอกให้พวกเราปฏิบัติ คือ ให้เอาสติมากำหนดรู้ความคิด มาคอยดูที่จิตที่ใจของตัวเอง คิดอะไรขึ้นมาต้องรู้ต้องเข้าใจ มันจะได้ไม่ถูกปรุงแต่งต่อไป พอคิดอะไรวูบขึ้นมา เราก็เอาสติเข้าไปดู ความคิดนั้นก็จะหยุดไปเอง
ในการปฏิบัติธรรมะ สิ่งที่ควรระวังคือความรู้ที่รู้ออกนอกตัวไป ความรู้ชนิดนั้น ได้แก่ วิปัสสนูปกิเลส เมื่อเรามีความรู้อย่างนั้นมันจะเกิดปีติดีใจขึ้นมา ปีตินี้เรียกว่ามืดสีขาว เป็นความรู้ที่ผิด เราอย่าไปติด “ปีติ”
เมื่อปฏิบัติต่อไปจนถึงที่สุด จนได้เห็นความคิดของเราเอง เห็นไปถึงสมุฏฐานต้นเหตุของความคิด นั่นคือได้เห็น “อาการเกิด - ดับ” เกิด - ดับมันขาดสูญออกไป อาตมาเคยเปรียบเทียบให้ฟังว่า เหมือนกับเอาเชือกมาผูกปลายสองข้างดึงให้ตึงแล้วเอามีดตัดตรงกลาง เชือกจะขาดออกจากกัน จะดึงมาให้ถึงกันอีกไม่ได้ คือจะใช้งานต่อไปอีกไม่ได้ กล่าวในทางอายตนะ ๑๒ ก็เหมือนกัน เช่นที่กล่าวกันว่า ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ฯลฯ ก็ให้สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน อย่าไปปรุงแต่งว่าสวยไม่สวยดีไม่ดี เสียงเพราะเสียงไม่เพราะ เสียงผู้หญิงเสียงผู้ชาย ให้เพียงแต่เห็นหรือได้ยินเฉยๆ อันนั้นยังเป็นคำพูด ส่วนการปฏิบัตินั้นเราต้องดูเข้าไปให้เห็น ให้มันขาดจากกันไปเลย เมื่อมันขาดออกจากกันแล้วมันจะไม่ปรุงแต่งต่อไป อายตนะนั้นก็ไม่สามารถจะเข้าถึงกันได้อีก
(สะอาด, สว่าง, สงบ)
คนเรามีจิตใจที่สะอาด-สว่าง-สงบอยู่แล้ว “สะอาด” แปลว่า จิตใจไม่สกปรก คือ ไม่มีกิเลส “สว่าง” แปลว่ามีปัญญา เห็นชีวิตจิตใจของตัวเอง “สงบ” แปลว่าหยุดแล้ว ไม่มีอะไรที่จะมาต่อเติมได้อีกแล้ว
สรุป
อาตมาจะสรุปหลักการปฏิบัติสั้นๆ ให้ฟังอีกครั้ง
๑. ขั้นแรกให้เราคอยจับความเคลื่อนไหวของรูปนาม การเคลื่อนไหวของรูปกายทุกอิริยาบถ เมื่อจับได้แล้วเราจะรู้จักเรื่องสมมติที่ตาเห็นสัมผัสได้ด้วยตาจับได้ด้วยมือ เป็นวัตถุภายนอก
๒. เมื่อทำได้ตามข้อ ๑. แล้ว จะมีความรู้ขึ้นเล็กน้อย เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส เราต้องพยายามตัดออกไป อย่าไปดีใจอยู่กับความรู้นี้ที่มันเกิดขึ้นมาทีหลัง เราต้องคอยดูจิตดูใจต่อไป เมื่อเราเห็น เรารู้ เราเข้าใจจิตใจของเราซาบซึ้งดีแล้ว มันจะทำลายความโกรธความโลภ ความหลงลงไปได้บ้าง
๓. เมื่อเราทำลายความโกรธ ความโลภ ความหลงลงไปได้เล็กน้อยนี้ จะทำให้เกิดปีติ เมื่อเกิดปีติ ก็ให้เรากำหนดรู้ปีติ แต่อย่าเข้าไปในปีตินั้น เราต้องถอนตัวออกจากปีติ คอยดูจิตใจของเราต่อไป ตอนนี้มันจะเกิดญาณปัญญาปรากฎขึ้นมาทำลายความยึดมั่นถือมั่นให้ลดน้อยลงไป
๔. เมื่อความยึดมั่นถือมั่นลดน้อยลงไปแล้ว ก็จะเห็น รู้ เข้าใจ ความเป็นปกติ กายก็ปกติ วาจาก็ปกติ จิตใจก็ปกติ ตอนปกตินี่แหละเรียกว่า ศีล-สมาธิ-ปัญญา
๕. เมื่อเห็น “อาการเกิด - ดับ” ถ้าไม่เข้าใจจะเป็นวิปลาส ถ้ารู้สึกอยู่พร้อมกับความจบนั้นการปฏิบัติก็ถึงที่สุด
ฉะนั้น ขอเตือนให้ท่านทั้งหลายพยายามปฏิบัติไป จนได้พบได้เห็นความคิดของตัวเอง และถอนตัวออกจากความคิด จงทุกๆ คนเทอญ
( หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ : พลิกโลกเหนือความคิด)