อานิสงส์ของการเจริญสติ

การมีสติเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้ผู้นั้นทำงานทำการได้ผลดี จะตัดสินใจทำอะไรก็ไม่ค่อยผิดพลาด ถ้ามีสติ-ความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา บุคคลนั้นก็ไม่จำเป็นต้องไปวัด ถือศีลกินเจ เพราะเขารู้ตัวว่าตัวเขากำลังทำอะไร กำลังพูดอะไร กำลังคิดอะไร ทำให้ตัวเองหรือผู้อื่นเดือดร้อนหรือไม่ เพราะสติ-ความรู้สึกตัวนี้คือสิ่งที่มีประโยชน์และสำคัญที่สุดในชีวิตเรา สติจะช่วยไม่ให้เราหลงไปกับอารมณ์หรือความคิด เนื่องจากสติทำให้เรารู้เท่า รู้ทัน รู้จักกัน รู้จักแก้ความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นกับเรา นอกจากนั้นผู้ที่มีสติสมบูรณ์จะมีสมาธิและปัญญา จะไปถึงที่สุดของทุกข์ได

เมื่อคนเรามีสติ ความหลง (โมหะ) จะไม่มี ถ้าสติขาดไป ความหลง - ความไม่รู้จะเข้ามาแทน ฉะนั้นถ้าไม่ต้องการให้ความหลง - ความไม่รู้มาครอบงำ เราก็ควรมีสติ-ความรู้สึกตัวอยู่เสมอและให้มีอย่างต่อเนื่อง เพราะสติเป็นเครื่องกั้นกิเลสทั้งหลายไม่ให้มาครอบคลุมจิตใจได้

ควรเจริญสติให้รู้ตัวทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน และทุกการเคลื่อนไหวของกายรวมทั้งให้รู้ทันความคิดทุกครั้งที่มันคิด ในขั้นต้นให้เจริญสติอยู่กับความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง เรื่องความคิดเราไม่ควรห้ามมัน ปล่อยให้มันคิด แต่ต้องมีวิธีและเทคนิคให้รู้ทันความคิด เห็นความคิด และตัดมันทิ้งไป ดังที่หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภสอนว่า คิดปุ๊บ ตัดปั๊บ และทำความรู้สึกตัวต่อไป อย่าเข้าไปในความคิด

ความรู้ ความเข้าใจที่ได้จากการเจริญสติ เป็นความรู้ของตัวเอง จึงเรียกว่าเกิดปัญญารู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง

ขั้นแรก จะรู้ เข้าใจ เรื่องรูป - นาม (กาย - ใจ) รู้เรื่องชีวิตที่มีกาย - ใจสัมพันธ์กัน แต่จะแยกได้ว่ากายก็ส่วนกาย ใจก็ส่วนใจ เช่น กายได้รับบาดเจ็บ แต่ใจไม่ได้เจ็บด้วย กายต้องเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แต่ธรรมชาติของใจมันเป็นปกติ มันนิ่ง มันสงบ มันไม่ทุกข์ หลวงพ่อให้คำจำกัดความ อารมณ์รูป - นาม ว่า ใจรู้กาย

จะรู้เรื่องรูปทำ คือกายเคลื่อนไหวในอิริยาบถต่าง ๆ

จะรู้เรื่องนามทำ คือความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่นความโลภ ความพอใจ ความไม่พอใจ ฯลฯ

จะรู้เรื่องรูปโรค คือเจ็บป่วยทางกาย ต้องไปหาแพทย์ ให้ทำการรักษา

จะรู้เรื่องนามโรค คือจิตใจป่วย เช่น ความคิด ความทุกข์ ความอยาก ฯลฯ จิตใจป่วยต้องรักษาด้วยการเจริญสติเท่านั้น และเราต้องเป็นผู้รักษาตัวเอง

จะเข้าใจเรื่อง ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ซึ่งเกี่ยวกับกาย ไม่ได้เกี่ยวกับใจ
ทุกขัง คือ ทุกข์ ทนไม่ได้
อนิจจัง คือ อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องมีการเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนแปลง
อนัตตา คือ ไม่อยู่ในบังคับ

ฉะนั้นจึงมีแต่กายเท่านั้นที่เป็นทุกขัง เป็นอนิจจัง และเป็นอนัตตา เช่น เมื่อเกิดมาเป็นเด็กทารก ก็มีการพัฒนาและเติบโตขึ้น จะบังคับให้อยู่เฉยๆ นิ่งๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ เมื่อมีการเกิด ต้องมีการแก่ การเจ็บ การตาย ทุกคน

ที่ว่า ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ไม่ใช่เรื่องของใจ เพราะคนที่มีความปกติ ใจไม่เป็นทุกข์ ใจจะนิ่งเฉย สงบ ไม่มีการหวั่นไหวใดๆ ผู้ปฏิบัติจะเห็นและเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนว่ากายกับใจมันต่างกัน มันคนละเรื่อง

หลังจากนั้นจะเข้าใจเรื่อง สมมติ ทั้งหลาย เช่น พระ ผี เทวดา นรก สวรรค์ เงินทอง ทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์ ต่างเป็นสมมติทั้งสิ้น เมื่อเข้าใจสมมติแล้ว จะไม่ยึดติดกับสิ่งเหล่านี้

จะเข้าใจเรื่องพุทธศาสนา ว่า พุทธ คือ ผู้ตื่นจากความไม่รู้ ผู้ที่มีสติ สมาธิ ปัญญา ผู้รู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง มีปัญญาเกิดขึ้นเอง

ศาสนา คือ ที่พึ่ง

พุทธศาสนาแปลว่า ที่พึ่งอันอุดมด้วยสติ – ปัญญา

ศาสนานี้อยู่ที่ตัวเรา เมื่อมีสติ สมาธิ ปัญญา มีจิตใจที่สะอาด สว่าง สงบ

ความรู้หรือปัญญาที่เกิดจากสมาธินั้นคือของจริงที่เห็นและสัมผัสได้ด้วยญาณปัญญา

ต่อไปจะรู้ เข้าใจ เรื่อง บุญ บาป

บุญ คือ ความสว่าง ความรู้แจ้ง รู้จริง จิตใจเบิกบานจากการได้รู้ เข้าใจสัจจธรรม

บาป คือ ความโง่ ความไม่รู้ ตามืดบอด เพราะโมหะและอวิชชา จึงหลงผิด

การรู้แจ้ง รู้จริงด้วยตัวเอง เป็นสัญญาจะจดจำได้ตลอดไป เพราะเราเห็นเอง รู้เอง เข้าใจเอง จึงเชื่อตัวเอง ไม่เชื่อผู้อื่น

การรู้จำ รู้จัก เป็นความรู้ของคนอื่น เราไม่ได้รู้เอง จึงอาจหลงลืมได้

ความรู้ที่เรารู้ด้วยตัวเอง ในกาย - ใจของตัวเอง เรียกว่า วิปัสสนาญาณ เมื่อมีความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ สติก็จะมีมากขึ้นๆ จนกระทั่งเป็นมหาสติ จะไม่มีการปรุงแต่ง จะเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน จะทำกิจทั้งหลายโดยใจไม่ต้องสั่ง แต่กายจะทำเอง หรือเรียกได้ว่า มันเป็นของมันเอง มันทำของมันเอง เมื่อถึงจุดนี้เราจะเชื่อจริงๆ ว่าสตินั้นมีคุณค่าใหญ่หลวงนัก เพียงแต่เจริญสติให้ถูกต้องตามเทคนิคของหลวงพ่อเทียนเท่านั้นเอง สติจะนำเราไปจนถึงที่สุดของทุกข์ พบแสงสว่าง ความรู้แจ้งเห็นจริง อายตนะภายนอกและอายตนะภายในขาดจากกัน ติดต่อกันไม่ได้อีกต่อไป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะทำหน้าที่ รู้ ตามความเป็นจริง โดยไม่มีการปรุงแต่งใดๆ แต่ในคนธรรมดา มันจะเป็นเช่นนี้ คือ

ตา เห็น รูปใจ จะบอกว่ารูปนั้นเป็นอย่างไร
หู ได้ยิน เสียงใจ จะบอกว่าเสียงนั้นเป็นอย่างไร
จมูก ได้ กลิ่นใจ จะบอกว่ากลิ่นนั้นเป็นอย่างไร
ลิ้น รู้ รสใจ จะบอกว่ารสนั้นเป็นอย่างไร
กาย รับ สัมผัสใจ จะบอกว่าสัมผัสนั้นเป็นอย่างไร
ใจ เกิด ความคิด/อารมณ์ใจ จะบอกอารมณ์พอใจหรือไม่พอใจ

เมื่อใดที่ใจเป็นสมาธิบนฐานของมหาสติ จะเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน แล้วมันก็ผ่านไป เพราะใจสงบด้วยสติ - สมาธิ - ปัญญาจึงไม่มีการปรุงแต่งว่าเป็นอย่างไร เราต้องปฏิบัติให้ได้ถึงขั้นนี้ จึงจะเข้าใจเรื่องการปรุงแต่ง - การทำงานของใจ เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อายตนะภายใน) เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ (อายตนะภายนอก)

ใจ เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นทุกข์ หรือ ไม่เป็นทุกข์

ทุกข์ เกิดขึ้นเพราะการขาดสติ มีความหลงหรือโมหะ ถ้าไม่มีโมหะ ก็จะไม่มีโลภะ โทสะ; ถ้ามีโมหะ จะมีโลภะ โทสะ ตามมา ปกติใจของเรามันสะอาด สว่าง สงบ มันเฉยๆ แต่ที่เกิดความวุ่นวายใจจนเป็นทุกข์ เพราะไม่มีสติ เห็นจิตใจตัวเอง โทสะ โมหะ โลภะ จึงมีขึ้น

การเจริญสติตามแนวของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ นั้น ท่านให้ปฏิบัติอยู่บนฐานของความรู้สึกตัว แต่ต้องรู้จักความคิดด้วย เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราไม่รู้จักหรือไม่เห็นความคิดนั้น เราก็จะเข้าไปในความคิด คือ เราจะหลงไปกับมัน เพราะเราลืมตัว ไม่มีสติรู้เท่าทันความคิด ซึ่งเกิดจากการปรุงแต่งเป็น โลภะ โทสะ กิเลส ตัณหา อุปาทาน ท่านจึงสอนให้ทำความรู้สึกตัว ให้มีสติ เพื่อจะได้รู้เท่า รู้ทัน รู้จักกัน รู้จักแก้ เมื่อมันคิดจะได้รู้มัน เห็นมัน และตัดมันทิ้งไป เมื่อตัดทิ้งบ่อยๆ เข้า ความคิดก็จะสั้นลงๆ จนไปพบต้นกำเนิดของความคิดในที่สุด

การปฏิบัติจึงเป็นการกำจัดโทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทาน เมื่อใดที่เรารู้จักมัน เห็นมัน เข้าใจมัน สิ่งเหล่านี้จะไม่มีอีก หรืออาจจะหลงอยู่บ้างแต่ก็จะเหลือน้อยมาก ฉะนั้นจึงควรปฏิบัติให้รู้ เห็น เข้าใจตลอดสาย ให้หมดสิ้นสงสัยและรู้จักเรื่องชีวิตจิตใจให้ครบ เพื่อจะได้มีชีวิตเหนือสุขเหนือทุกข์

ในขณะที่มีความทุกข์จะรู้สึกเหมือนมีนรกอยู่ในใจ ถ้ารู้สึกสงบ สบายใจ สุขใจก็เหมือนมีสวรรค์อยู่ในใจ ดังคำกล่าวที่ว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ

คนทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว คนนั้น คือ ผี

คนทำดี พูดดี คิดดี คนนั้น คือ เทวดา

กรรม หมายถึง การกระทำ

การทำดี มันดี

การทำชั่ว มันชั่ว


ผู้ปฏิบัติจนสิ้นอาสวะ และไม่มีความยึดมั่นถือมั่นอีกแล้ว แม้ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ใดๆไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ย่อมไม่รู้สึกยินดียินร้ายในสุข - ทุกข์นั้น

เมื่อเจริญสติให้ถึงจุดสมบูรณ์ สมาธิ ปัญญา และศีล จะเกิดขึ้นเอง โดยไม่ต้องคอยระวังรักษาศีล แต่ศีลจะรักษาเรา ป้องกันเราจากโทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทาน ศีลจะทำหน้าที่ของมันเองโดยเราไม่ต้องทำอะไร และปัญญาจะเกิดขึ้นเอง จนวันหนึ่งจะเข้าถึงธรรมได้เอง เมื่อถึงที่สุดแล้วญาณย่อมมี

ถ้าตั้งอกตั้งใจเจริญสติอยู่เสมอให้ต่อเนื่อง ก็จะมีสติที่ว่องไวและทันความคิด ความคิดจะถูกตัดด้วยสติจนความคิดน้อยลง/สั้นลงทุกที เมื่อมีสติรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย - ใจ จะพบว่าจิตใจมีแต่ความปกติเหลืออยู่เท่านั้น มันคือธรรมชาติของใจที่สะอาด สว่าง สงบ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะเห็นและสัมผัสได้ด้วยตนเอง ถ้าความไม่ปกติเกิดขึ้นเมื่อใด แสดงว่าตัวกิเลส (ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์) ได้เข้ามาในจิตใจแล้ว จึงควรปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากทั้งสุขและทุกข์ เพื่อจะได้เหลือแต่จิตใจที่ปกติจริงๆ

หลังจากนั้น จะเข้าใจว่าความสงบมี ๒ อย่าง คือ ความสงบแบบสมถะ และ ความสงบแบบวิปัสสนา

คนที่มีสติที่แท้จริงคือคนที่มีสมาธิ มีปัญญา และมีศีลอยู่ในตัวเอง จะรู้ด้วยปัญญาว่าควรทำอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ เพราะมีปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ทุกสิ่งที่ทำ พูด คิด จะมีที่มาที่ไป มีเหตุและผล ต่างจากคนที่ไม่เคยเห็นจิตใจตัวเอง ถูกกิเลสครอบงำ จะทำ จะพูด จะคิดไปตามกระแสกิเลสและอารมณ์

เมื่อมีสติรู้สึกตัวอยู่เสมอ จิตใจจะเป็นปกติ ใส สะอาด จะเห็นทุกอย่างชัดเจน ทั้งการกระทำ คำพูด และความคิด เมื่อใดที่เราทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว เราจะรู้ทันทีว่าเป็นบาป มันไม่มีศีลแล้ว มันไม่ปกติแล้ว รู้สึกเหมือนมีนรกอยู่ในใจ ถ้ามีนรกจริง เราจะตกนรกขุมไหน เมื่อใดที่เราทำดี พูดดี คิดดี เราจะรู้ว่ามันเป็นบุญอย่างไร เหมือนมีสวรรค์อยู่ในใจ ถ้ามีสวรรค์จริง เราจะไปอยู่สวรรค์ชั้นไหน

ขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติจะได้พบเห็นต้นกำเนิดของความคิด จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นอย่างไรและดับลงอย่างไร อาการเกิด - ดับเป็นอย่างไร อาการเกิด - ดับนี้เป็นสภาวะอาการ อย่าเข้าใจผิดว่ามันคิดครั้งหนึ่งเป็นเกิด - ดับครั้งหนึ่ง นั่นเป็นการเรียกอย่างสมมติว่าเกิด - ดับ ถ้าเป็นปรมัตถ์ จะต้องเห็นสภาวะอาการเกิด - ดับ จริงๆ เพราะมันคิดและเลิก/หยุดคิดวันละหลายร้อยครั้ง เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภไม่เรียกมันว่าอาการเกิด - ดับ จนกว่าจะได้พบ สภาวะ นั้นจริง อาการเกิด - ดับแบบหลวงพ่อเทียนมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในชีวิตนี้ และจะพบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงของกาย - ใจ จะหมดสิ้นสงสัยเรื่องชีวิตจิตใจของตนเอง จะมีจิตใจที่เป็นอุเบกขาโดยไม่ต้องเสแสร้งหรือฝืนใจให้เป็น จะเห็น จะรู้ จะเป็น จะมี สิ่งนั้นตลอดไป จะมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่ไม่เป็นทุกข์อีกต่อไป

บทสรุป

๑. รู้อารมณ์รูป - นาม เข้าใจเรื่องสมมติ ไม่เชื่อเรื่องฤกษ์ยาม ผี เทวดา นรก สวรรค์
๒. รู้อารมณ์นามรูป เกิดปัญญา เห็น รู้ เข้าใจเรื่องวัตถุ- ปรมัตถ์ - อาการ จิตใจเปลี่ยน ไม่ยึดมั่นถือมั่น
๓. รู้จักศีล ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ มีความปกติกาย วาจา ใจอยู่เสมอ
๔. รู้ - เข้าใจเรื่องความสงบ ๒ อย่าง คือ
    • สงบแบบสมถะ สงบชั่วคราว ไม่มีปัญญาสงบแบบวิปัสสนา
    • สงบด้วยปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง ตามความเป็นจริง รู้บาป - บุญ, นรก - สวรรค์
๕. พบสภาวะอาการเกิด - ดับ รู้ เข้าใจเรื่องชีวิตจิตใจอย่างแจ่มแจ้ง สิ้นสงสัย ถึงที่สุดของทุกข์