สภาวะอาการเกิด-ดับทำลายทุกอย่างได้ชนิดถอนรากถอนโคน
(หลวงพ่อเทียน
จิตฺตสุโภ)
ทวนกระแสความคิด
ผู้รู้แจ้งเห็นจริง
มุมมองของหลวงพ่อเทียน
สติ - ความรู้สึกตัว
อาจารย์ผู้เดียวของข้าพเจ้า
พระคุณของหลวงพ่อ
หลวงพ่อเทียนและสิ่งที่ท่านมอบให้
วิปัสสนาจารย์
ทวนกระแสความคิด
อานิสงส์ของการเจริญสติ
สมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน
หนทางสู่นิพพาน
การปฏิบัติธรรมโดยไม่มีพิธีรีตอง
ต้นกำเนิดของความคิด
ทางลัดสู่การรู้แจ้ง
หลวงพ่อเทียนและสิ่งที่ท่านมอบให้
ประวัติของหลวงพ่อเทียนมีความน่าสนใจมาก เพราะมันไม่ธรรมดาและยากแก่การยอมรับในสังคมชาวพุทธที่มีความเชื่อกันมานานว่าผู้บรรลุธรรมต้องเป็นพระสงฆ์หรือนักบวชเท่านั้น ตลอดเวลากว่า ๓๐ ปี ใครจะบอกว่าอาจารย์คนไหนเก่ง วิธีไหนดี อุบาสกพันธ์หรือพ่อเทียนก็จะไปฝึกปฏิบัติด้วย ท่านบอกว่า แต่ละสำนักก็สอนไม่ค่อยแตกต่างกัน คือให้ดูลมหายใจ ถ้าเดินจงกรมก็ให้กำหนด จะต่างกันที่คำบริกรรมเท่านั้น ท่านได้ปฏิบัติสมถกรรมฐานอย่างต่อเนื่องมาตลอดเวลา
เมื่อท่านอายุ ๔๖ ปี ท่านได้พบว่าการปฏิบัติของท่านที่ผ่านมายังไม่สามารถทำให้ท่านเอาชนะความโกรธได้ ภรรยาพูดไม่ถูกใจนิดเดียวท่านก็โกรธแล้ว ภรรยาจึงเตือนว่าท่านได้ทำบุญ แต่พูดไม่ถูกใจนิดเดียวท่านก็โกรธ ภรรยาพูดว่า “ถ้าเจ้าโกรธ เจ้าก็ตกนรกแล้วซิ” พ่อเทียนเห็นว่าภรรยาพูดถูก จึงได้ตัดสินใจจะไปปฏิบัติธรรมเพื่อเอาชนะความโกรธให้ได้ หลังจากจัดการทรัพย์สินและกิจการค้าของท่านเรียบร้อยแล้ว (พ่อเทียนได้ประสพความสำเร็จในการค้าขายเข้าขั้นเป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่ง) ท่านก็ออกเดินทาง โดยไม่บอกทางบ้านว่าจะไปไหน ท่านมีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าจะไม่กลับมาบ้านจนกว่าจะเอาชนะความโกรธได้ เนื่องจากช่วงเวลา ๓๐ ปีที่ผ่านมาท่านได้ปฏิบัติกรรมฐานมาแล้วหลายวิธี แต่สิ่งที่ท่านได้รับคือความสงบเพียงชั่วคราวเท่านั้น ท่านไม่อาจเอาชนะความโกรธได้เลย
ท่านออกเดินทางไปที่วัดรังสีมุกดาราม จ.หนองคายเพื่อปฏิบัติธรรมในพรรษานั้น อาจารย์ให้เคลื่อนไหวมือเป็นจังหวะ ขณะที่เคลื่อนไหวก็ให้บริกรรมว่าติง (แปลว่าเคลื่อนหรือไหว) ขณะที่เป็นจังหวะหยุดให้บริกรรมว่านิ่ง (แปลว่าหยุดหรือนิ่ง)
เนื่องจากอุบาสกพันธ์หรือพ่อเทียนเคยมีประสบการณ์ในการปฏิบัติสมถกรรมฐาน เช่นการภาวนาพุทโธ สัมมาอรหัง พองยุบ นับหนึ่งสองสาม อานาปานสติมาแล้ว ครั้งนั้นท่านจึงยกมือสร้างจังหวะโดยไม่หลับตาและไม่บริกรรมคำใดๆทั้งสิ้น แต่ให้มีความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่องเพราะท่านจำได้ว่าพุทธเจ้าสอนให้มีสติ ความรู้สึกตัว พ่อเทียนได้ปฏิบัติตลอดวันด้วยความขยันหมั่นเพียร ในเวลาเพียง ๓วัน ท่านก็ได้บรรลุธรรมถึงที่สุดของทุกข์ โดยปราศจากพิธีรีตองหรือครูบาอาจารย์ ท่านกล้าประกาศว่าท่านไม่มีทุกข์อีกแล้ว ตั้งแต่วันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ พ.ศ. ๒๕๐๐ (วันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๐)
พ่อเทียนบรรลุธรรมในขณะที่ท่านยังเป็นฆราวาส ท่านมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ท่านเห็น รู้ เข้าใจด้วยตัวท่านเอง (เห็นเอง รู้เอง เข้าใจเอง) ท่านหยุดแสวงหาครูบาอาจารย์อีกต่อไป เพราะท่านหมดสิ้นสงสัยเรื่องชีวิตจิตใจของตัวเอง ท่านได้เห็นต้นกำเนิดของความคิดซึ่งเป็นต้นเหตุของความทุกข์ จิตใจของท่านเปลี่ยนเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อท่านได้พบสภาวะอาการเกิด - ดับ
ขั้นตอนการบรรลุธรรมของพ่อเทียนเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดา ไม่ค่อยได้พบเห็นในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องยากแก่การยอมรับ เพราะท่านเป็นฆราวาสและใช้เวลาเพียง ๒-๓ วันเท่านั้นก็บรรลุธรรม รู้แจ้งเห็นจริง เนื่องจากท่านได้พบวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นการปฏิบัติวิปัสสนาโดยตรง ไม่ทำให้เสียเวลาเลย ท่านจึงบรรลุธรรมภายในระยะเวลาอันสั้น ในเชิงประวัติศาสตร์ชีวิตของท่านคล้ายคลึงกับชีวิตของท่านเว่ยหล่าง พระสังฆปรินายกองค์ที่ ๖ ของพุทธศาสนานิกายเซนในประเทศจีน (พ.ศ. ๑๑๘๑ - ๑๒๕๖) ซึ่งเป็นผู้ไม่รู้หนังสือเช่นเดียวกัน และได้บรรลุธรรมขณะที่เป็นฆราวาสเช่นกัน
ในแวดวงของนักปฏิบัติธรรมยอมรับว่าหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ คือ ปรมาจารย์แห่งการเจริญสติ ท่านมีวิธีและเทคนิคในการปฏิบัติที่ชัดเจนคือให้มีสติ - ความรู้สึกตัว และเห็นความคิดทุกครั้งที่มันคิด ท่านเป็นคนแรกที่พูดเรื่องความรู้สึกตัวและการดูความคิด คือให้เห็นมัน รู้เท่ารู้ทันมันเมื่อจิตใจมันนึกมันคิดทุกครั้ง อย่าไปห้ามความคิด เพราะความคิดเป็นต้นเหตุของความทุกข์ จึงต้องใช้สติทวนกระแสความคิดไปให้ถึงต้นกำเนิดของมัน แล้วเราจะไม่ทุกข์อีกต่อไป
พ่อเทียนได้กลับบ้านหลังจากที่ท่านได้บรรลุธรรมแล้ว และได้เปิดอบรมการเจริญสติตามวิธีของท่านที่บ้านบุฮม จ.เลย ท่านได้อบรมไปหลายรุ่น มีภรรยาและญาติพี่น้องของท่านรวมอยู่ด้วยหลายคนในหมู่ผู้ปฏิบัติ ภรรยาของท่านได้บรรลุธรรมตามท่าน ส่วนญาติพี่น้องและชาวบ้านบุฮมก็ได้รู้และเข้าใจธรรมหลายคน เวลาผ่านไป ๒ ปี ๘ เดือน ท่านได้ตัดสินใจออกบวชอีกครั้งเพราะเห็นว่าถ้าอยู่ในสมณะเพศจะทำประโยชน์ในการสั่งสอนและอบรมการปฏิบัติธรรมแก่คนทั่วไปได้ดีกว่า
หลวงพ่อเทียนสอนและบรรยายธรรมตามประสบการณ์ของท่านโดยตรง มิได้อ้างตำรา ไม่มีพิธีรีตอง ไม่เน้นเรื่องการทำบุญ รักษาศีล ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาส ไม่เกี่ยวกับเพศ วัย เชื้อชาติหรือศาสนา
วิธีเจริญสติตามแนวหลวงพ่อเทียนจะพูดว่าง่ายก็ง่าย จะพูดว่ายากก็ยาก มันขึ้นอยู่กับผู้ปฏิบัติว่าเข้าใจวิธีและเทคนิคของท่านหรือไม่ เพราะห้ามหลับตา ไม่มีการบริกรรมคำใดๆ ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนที่เคยชินกับการหลับตาและบริกรรม นอกจากนั้นยังต้องมีสติรู้สึกตัวในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการกำหนด (concentration) เพียงแต่ให้มีความรู้สึกตัว(awareness) แผ่วๆ เท่านั้น ไม่ให้กำหนดรู้ว่าพลิก คว่ำ ย่าง หยุด ขึ้น ลง และอื่นๆ ไม่ให้เพ่ง หรือจ้องการเคลื่อนไหวเพราะนั่นคือการกำหนด แต่การเจริญสติเป็นความรู้สึกที่แผ่วเบา ไม่เครียด วิธีนี้จึงเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คน แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติอะไรมาก่อนเลยจะเป็นเรื่องง่าย ไม่มีอะไรยุ่งยากเลย เพียงแต่ทำความเข้าใจวิธีและเทคนิคของหลวงพ่อเท่านั้น และทำเช่นนั้นไปตลอดตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นสุดท้าย
การเจริญสตินี้สามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องนั่งนิ่งหรืออยู่เฉยๆ ไม่ต้องหลับตา แต่ให้เคลื่อนไหวอยู่เสมอเพื่อฝึกให้มีความรู้สึกตัว จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ทำได้ถ้ามีการเคลื่อนไหว เช่น การเดินจงกรม พลิกมือคว่ำ - หงาย คลึงนิ้วมือ กระดิกเท้า กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า รีดผ้า ฯลฯ ขอให้มีการเคลื่อนไหวเป็นใช้ได้ แต่ต้องมีความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนใจที่มันคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ก็ช่างมัน ไม่ต้องกำหนดหรือจ้องมันหรือบังคับไม่ให้มันคิด อย่าห้ามความคิด เพราะความคิดคือสิ่งที่เราต้องทำความรู้จักมัน ต้องรู้เท่า รู้ทัน รู้จักกัน รู้จักแก้ เพราะมันเป็นต้นเหตุที่ทำให้ทุกข์ หลวงพ่อบอกว่า “ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้ เหมือนนักมวยขึ้นชกบ่อยๆ ก็จะเก่งเอง วันหนึ่งก็จะเป็นแชมเปี้ยนได้ ถ้าบังคับไม่ให้มันคิด มันจะเกิดปัญญาได้อย่างไร? ถ้าบังคับไม่ให้มันคิด มันก็ทุกข์ มันเครียด เพราะไม่เป็นธรรมชาติ ปล่อยให้มันคิด แต่ต้องเอาชนะมันให้ได้ทุกครั้ง จนมันปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป”
โทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทาน ล้วนปรากฎออกมาในรูปของความคิดหรืออารมณ์ทั้งสิ้น หลวงพ่อจึงให้จัดการที่ตัวความคิดโดยไม่ต้องจำแนกแยกแยะว่ามันเป็นอะไร เมื่อมันคิดปุ๊บ - ตัดปั๊บ ตัดด้วยอะไร? ตัดด้วยสติ เพราะพอเห็นมัน ความคิดก็จะหายไปทันที
หลวงพ่อสอนให้ดูความคิด ให้เห็นมันทุกครั้งที่มันคิด ถ้ามันไม่คิดก็แล้วไป แสดงว่าจิตใจเราเป็นปกติ ไม่มีการปรุงแต่ง ความคิดชนิดนั้นจึงไม่เกิด แต่ถ้ามันคิดต้องรู้ทันมัน เมื่อเรามีสติสมบูรณ์และว่องไว เราจะเห็นความคิดได้ทัน เมื่อเห็นมันความคิดจะหยุดลงทันที ไม่ต้องไปสนใจหรือวิเคราะห์วิจารณ์ว่าคิดเรื่องอะไร ปฏิบัติต่อไปให้อยู่กับความรู้สึกตัวและให้มันต่อเนื่อง จะได้รู้ทันความคิด ถ้ามันคิด เมื่อมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย - ใจอย่างเต็มที่ จะเห็นจิตใจที่ สะอาด สว่าง สงบ นิ่ง ไม่วอกแวก นี่คือความปกติของจิตใจที่ไม่มีความหลงและอวิชชามาบดบังปัญญาจะเกิดขึ้นให้เราเห็น รู้ เข้าใจสัจจธรรมในสภาวะจิตที่เป็นสมาธิบนฐานของมหาสติ ปัญญาชนิดนี้เป็นปัญญาที่บริสุทธิ์อย่างแท้จริงที่ทำให้เห็น รู้ เข้าใจเรื่องของชีวิตจิตใจและสรรพสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงจนสามารถปล่อยว่างได้ ไม่ได้เกิดจากการพิจารณาสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น
ความสงบและนิพพานมีอยู่แล้วในคนทุกคน มันขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะทำให้สิ่งนั้นปรากฎหรือไม่เท่านั้น เรามัวแต่ศึกษาเรื่องไกลตัว นอกตัว จนลืมมองและศึกษาจิตใจของตัวเอง บางครั้งก็เข้าใจว่าธรรมะอยู่ไกลเกินเอื้อม หรือเข้าใจว่ามีแต่พระสงฆ์และนักบวชเท่านั้นที่สามารถบรรลุธรรมได้ แต่ที่มีหลักฐานแน่นอนก็คือท่านเว่ยหล่างและหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ที่สามารถบรรลุธรรม รู้แจ้งเห็นจริงได้ขณะที่ยังเป็นฆราวาส พระพุทธองค์ตรัสให้เจริญสติปัฏฐาน ๔อย่างต่อเนื่องจะบรรลุธรรมได้ภายในเวลาอย่างช้าไม่เกิน ๗ ปีแต่หลวงพ่อเทียนบอกว่าถ้าผู้ใดทำตามวิธีของท่านอย่างถูกต้องและต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ความทุกข์จะลดลงมากและอาจจะไปถึงที่สุดของทุกข์ได้ภายในเวลาไม่เกิน ๓ ปี โดยหลวงพ่อขอเอาชีวิตเป็นเดิมพัน หากเจริญสติตามแนวของท่านแล้วไม่ได้ผลอย่างที่ท่านรับรอง
ตัวดิฉันเองก็ไม่เคยสนใจเรื่องไปวัด ทำบุญ ทำทาน หรือรักษาศีลมาก่อนที่จะพบหลวงพ่อ เมื่อได้อ่านหนังสือ สว่างที่กลางใจ ของหลวงพ่อเป็นครั้งแรก รู้สึกว่าเข้าใจง่าย ดิฉันไม่ได้อ่านแบบผ่านๆ แต่ดิฉันทำความเข้าใจทุกคำ ถ้าประโยคไหนที่ท่านพูดแล้วเราประทับใจและเห็นด้วยว่าท่านพูดมีเหตุมีผล เราเห็นด้วยและยอมรับว่าท่านพูดถูก ดิฉันก็ขีดเส้นใต้เอาไว้ ไปๆ มาๆ ก็ขีดไปเกือบหมดทั้งเล่ม นอกจากหนังสือแล้วดิฉันยังไปหาเทปคำสอนของหลวงพ่อมาฟังอีกด้วย บางม้วนท่านพูดไว้นานแล้วตั้งแต่ท่านยังพูดภาษาภาคกลางไม่ค่อยเก่ง ท่านก็พูดเป็นภาษาพื้นเมืองของท่าน ดิฉันจึงฟังไม่รู้เรื่อง บางม้วนที่ท่านพูดเป็นภาษาภาคกลางก็มีบ้าง ก็ฟังซ้ำไปซ้ำมา และอ่านหนังสือธรรมะของท่านซ้ำอยู่หลายเที่ยวแต่ไม่เคยเบื่อ เริ่มต้นจากที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจเรื่องปฏิบัติธรรมเลย จนเข้าใจว่าหลวงพ่อสอนอะไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติแล้วจะรู้ - เข้าใจอะไร
เนื่องจากหนังสือทุกเล่มของท่านพูดอยู่เรื่องเดียวเหมือนๆ กัน ไม่ว่าหนังสือนั้นจะมีชื่อว่าอะไร แต่เนื้อหาในหนังสือเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด คือเรื่องทุกข์ เรื่องให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัว ให้ดูความคิด อย่าเข้าไปในความคิด ให้ปฏิบัติจนไปถึงที่สุดของทุกข์ จนพบสภาวะอาการเกิด - ดับ แต่ที่ทำให้ดิฉันเกิดศรัทธาคือไม่มีเรื่องไหนที่เถียงหรือโต้แย้งได้เลย เพราะท่านมีเหตุผลทุกอย่าง ท่านพูดเป็นภาษาไทยหรือบางครั้งก็พูดเป็นภาษาพื้นเมืองของท่าน ทำให้ฟังและเข้าใจง่าย เพราะท่านไม่ค่อยใช้คำบาลีในการพูดการสอน เนื่องจากท่านเป็นผู้รู้แจ้งและรู้จริง จึงอธิบายและสอนเรื่องที่ยากแก่การเข้าใจให้เข้าใจได้ถึงแม้จะไม่เข้าใจทั้งหมด เพราะการรู้ธรรมต้องรู้เองจากการปฏิบัติ ไม่ใช่จากการอ่านการฟัง แม้ผู้รู้ก็ไม่สามารถหาคำพูดมาอธิบายให้เราฟังได้ทุกอย่าง เพราะสภาวธรรมเป็นสิ่งที่อยู่เหนือคำพูด คำอธิบาย แต่ถ้าเป็นผู้รู้ธรรมด้วยกันพูดจากันเพียง ๒ - ๓ คำก็สามารถเข้าใจกันได้ เพราะท่านมีประสบการณ์เช่นเดียวกันจึงเข้าใจกัน
ดิฉันได้พบแสงสว่างแล้วจากคำสอนของหลวงพ่อเทียน แต่แค่นั้นยังไม่พอ เพราะมันไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจของเราเอง มันเป็นเพียงการรู้จำเท่านั้น ไม่ได้รู้แจ้งรู้จริงด้วยตัวเอง ดิฉันเข้าไปหาหลวงพ่อด้วยความศรัทธาเต็มเปี่ยม ดิฉันกราบเรียนท่านว่า “หนูไม่มีอะไรจะถาม หนูเห็นด้วยกับหลวงพ่อทุกอย่าง หนูอยากปฏิบัติ อยากรู้อย่างที่หลวงพ่อสอน” แต่หลวงพ่อถามดิฉัน ๑ อย่าง คือ “คุณอัญชลีเข้าใจเรื่องการทำบุญว่าอย่างไร?” ดิฉันตอบท่านอย่างซื่อๆ ตามความรู้สึกและความคิดของตัวเองว่า “หนูรู้สึกว่าเป็นการแบ่งกันกินแบ่งกันใช้” หลวงพ่อพยักหน้าและบอกว่า “ใช้ได้” ที่ท่านถามอย่างนี้เพราะอยากทราบว่าดิฉันเป็นคนอย่างไร มีความงมงายหรือเปล่า มีทิฏฐิอย่างไร
หลังจากนั้นท่านก็ให้ดิฉันเริ่มต้นปฏิบัติโดยการยกมือสร้างจังหวะอยู่ที่ระเบียงกุฏิของท่าน โดยหลวงพ่อควบคุมการปฏิบัติของดิฉันตลอดเวลา ๑ ชั่วโมง แล้วท่านจึงสอบอารมณ์ ดิฉันสามารถรู้และเข้าใจอารมณ์รูป - นาม (อารมณ์สมมติ ได้ภายในเวลา ๑ ชั่วโมง ที่ดิฉันสามารถเห็น รู้ เข้าใจได้เร็วเพราะไม่เคยผ่านการปฏิบัติธรรมวิธีใดๆ มาก่อนเลย ไม่รู้อะไรเลยสักอย่างเดียว คำบาลีก็ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจเลย หลวงพ่อเทียนพูดกับดิฉันว่า “คุณอัญชลีเหมือนผ้าขาว ไม่มีสีอื่นติดมาเลย ดังนั้นหลวงพ่อให้อะไร สอนอะไร ก็รับได้หมด” เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าความไม่รู้อะไรเลยสักอย่างก็ดีเหมือนกัน มีประโยชน์ได้เหมือนกัน แต่ถ้าไปหาหลวงพ่ออย่างคนมีความรู้มาก มีประสบการณ์มากก็อาจเป็นเหมือนเรื่องน้ำชาล้นถ้วยของเซน
การได้มีโอกาสพบและได้เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ได้ท่านเป็นผู้ชี้ทางให้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ล้ำค่าและวิเศษที่สุดในชีวิตของดิฉัน
พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ทุกข์ ให้กำหนดรู้
สมุทัย ต้องละ
นิโรธ ทำให้แจ้ง
มรรค ต้องเจริญ
เราควรจะรู้ว่าทุกข์ในความหมายของอริยสัจจ์ ๔ คืออะไร แต่ไม่ใช่ความหมายทางโลก เรื่องทุกข์เพราะไม่มีเงินใช้ ไม่มีข้าวกิน ไม่มีบ้านอยู่ ฯลฯ เพราะถ้าไม่รู้จักทุกข์ในความหมายของอริยสัจจ์ ๔ ก็ไม่มีทางเข้าถึงธรรม จะมีชีวิตอยู่กับทุกข์ไปจนตาย การได้อ่านหนังสือธรรมะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องชีวิตจิตใจได้ระดับหนึ่ง เมื่อมีความทุกข์เราอาจนำสิ่งนั้นมาเป็นข้อคิดเพื่อให้รู้สึกบรรเทาลงบ้าง ทำใจได้บ้าง แต่มันทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะใจไม่ได้ถูกฝึกมา ดังนั้นจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะพบกับความเปลี่ยนแปลง ความสูญเสีย ความพลัดพราก ฯลฯ โดยไม่ทุกข์ หลังจากเข้าใจธรรมแล้ว ดิฉันพูดเสมอว่า สิ่งใดที่ต้องเปลี่ยนแปลงและอยู่นิ่งไม่ได้ สิ่งนั้นเป็นทุกข์
ถ้าเข้าใจทุกข์แล้วก็ต้องรู้เหตุแห่งทุกข์ รู้วิธีดับทุกข์ ไปให้ถึงที่สุดของทุกข์ ให้รู้แจ้งเห็นจริง แล้วจะอยู่ได้อย่างไม่ทุกข์ ถ้าเราเพียงแต่อ่านหนังสือหรือฟังการบรรยายธรรม แต่ไม่เคยฝึกให้รู้จักชีวิตจิตใจตัวเอง เราก็จะไม่รู้จัก ไม่เข้าใจมัน
การเจริญสติตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป ขอให้เรามีความตั้งใจจริงและให้เวลาแก่การปฏิบัติอย่างเต็มที่ เราจะเห็นผลของมันอย่างแน่นอน
งานสำคัญที่สุดในชีวิตของผู้ปฏิบัติธรรม คือ