มุมมองของหลวงพ่อเทียน

อวิชชา คือ ความไม่เข้าใจเรื่องธรรมชาติของจิตใจ, ไม่รู้สมุฏฐานของความคิด

เราทุกข์เพราะความคิด (ปรุงแต่ง), ไม่เห็นจิตเห็นใจของตนเอง, ไปยึดไปถือ ไปกำมันไว้ ไม่ปล่อยวาง

ความคิดเป็นตัวทุกข์ ใจไม่ได้เป็นทุกข์เลย เพราะยังไม่เห็น ไม่รู้จักธรรมชาติของจิตใจ จึงเอาความคิดไปปนกับจิตใจ แล้วเข้าใจผิดว่าจิตหรือใจเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา

คนส่วนมากสนใจแต่เรื่องของคนอื่น และเรื่องนอกตัว ไม่เคยสนใจหรือมองตัวเอง การปฏิบัติธรรม คือ การรู้จักตัวเอง เห็นตัวเอง เข้าใจเรื่องชีวิตจิตใจของตัวเอง

หลวงพ่อชื่นชมคนมีปัญญามากกว่าคนฉลาด เพราะคนฉลาดบางคนรู้แต่เรื่องในตำรา รู้แต่เรื่องนอกตัว ไม่เคยเห็นจิตเห็นใจตัวเอง จึงไม่ถือว่ามีปัญญาทางธรรม มีแต่ปัญญาทางโลกซึ่งช่วยให้ตัวเองพ้นทุกข์ไม่ได้

ปัญญาโลกียะ คือ ปัญญาในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมกับมนุษย์ปุถุชนที่แสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ และหมกมุ่นอยู่แต่ในกองกิเลส

ปัญญาโลกุตตระ คือ ปัญญาเพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ ปัญญาที่สามารถทำลายโมหะและอวิชชา

การรู้ด้วยญาณปัญญาไม่มีทางเข้าใจผิดพลาด

ทำดี มันดี มันขึ้นสวรรค์เดี๋ยวนั้น
ทำชั่ว มันชั่ว มันตกนรกเดี๋ยวนั้น

อดีตผ่านไปแล้ว แก้ไขไม่ได้ จะไปห่วงอะไรกับอดีต อนาคตก็ยังมาไม่ถึง จงอยู่กับปัจจุบันและทำมันให้ดีที่สุด

คนที่ตายไปแล้วก็แล้วไป เขาหมดโอกาสแล้ว แต่คนที่ยังมีชีวิตอยู่นี่แหละยังมีโอกาสปฏิบัติธรรมให้เห็นได้ รู้ได้ เข้าใจได้

คนที่มีความรู้มี ๒ ประเภท คือ

๑. ผู้ที่มีความรู้จากการฟัง การอ่าน การเรียน พวกนี้มักพูดมาก ยืดเยื้อ อ้อมค้อม ชอบยกตำรามาอ้างเพราะกลัวจะไม่มีคนเชื่อถือ บางครั้งศึกษามาแล้วก็เอาความรู้จากการได้เรียนได้ฟังจากครูบาอาจารย์หรือจากตำรามาอวดอ้างว่าตนรู้มาก นี่เป็นเพียงการรู้จำ รู้จักเท่านั้น

๒. ผู้รู้แจ้ง รู้จริงคือบัณฑิตทางธรรม เมื่อเขาพูดให้ผู้อื่นฟังก็จะเข้าใจง่าย เพราะพูดง่ายๆ สั้นๆ แต่รัดกุมและชัดเจน ไม่ได้พูดเพราะอวดดีอวดรู้ความเข้าใจในธรรมของตน ไม่มีความอยากได้ใคร่ดี ไม่ต้องการคำสรรเสริญ หรือลาภสักการะจากผู้ใด

มนุษย์ปุถุชนทุกคนมีความทุกข์ จะพ้นทุกข์ได้ด้วยปัญญาจากการเจริญสติเท่านั้น ทางอื่นไม่มีแน่นอน

เมื่อมีผู้ถามว่าการปฏิบัติธรรมในรูปแบบอื่นๆ ดีหรือไม่ หลวงพ่อตอบว่า ดีของเขา ไม่ใช่ดีของเรา

คนชอบพูดกันว่าปฏิบัติวิธีไหนก็ได้ เพราะผลสุดท้ายมันก็ไปถึงเหมือนกัน แต่หลวงพ่อบอกว่า ปฏิบัติไม่เหมือนกันยังรู้ไม่เหมือนกัน แล้วจะไปถึงจุดหมายปลายทางเดียวกันได้อย่างไร

หลวงพ่ออธิบายเรื่องขันธ์ ๕ ดังนี้ ท่านว่า รูปเป็นขันธ์

เวทนา (เสวยอารมณ์) สัญญา (หมายรู้ จำได้) สังขาร (ปรุงแต่ง) วิญญาณ (รู้) นี่เป็นหมวดของใจ

รูป ๔ คือ
เวทนาเป็นรูป (เป็นทั้งรูป ทั้งนาม)
สัญญาเป็นรูป (เป็นทั้งรูป ทั้งนาม)
สังขารเป็นรูป (เป็นทั้งรูป ทั้งนาม)
วิญญาณเป็นรูป (เป็นทั้งรูป ทั้งนาม)

รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ คือขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ คือ กายกับใจ ขันธ์ก็คือตัวเรานี่เอง
ในขันธ์มีศีล (ปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ) เรียกว่า ศีลขันธ์
ในขันธ์มี/เป็นสมาธิ (ความตั้งมั่น,นิ่ง) เรียกว่า สมาธิขันธ์
ในขันธ์มีปัญญา (รู้แจ้งเรื่องชีวิต จิตใจ) เรียกว่า ปัญญาขันธ์

ขันธ์หมายถึงภาชนะหรือสิ่งรองรับก็ได้ ถ้าขัน(ธ์)ดี ก็ไม่แตกไม่รั่ว เอาไปใส่ข้าวใส่น้ำก็ใช้ได้ จะได้ข้าวได้น้ำมากิน ถ้าขัน(ธ์)แตกหรือขัน(ธ์)รั่ว ก็ใช้ใส่ข้าวใส่น้ำไม่ได้

ศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ เพราะรู้กายรู้ใจอยู่เสมอ
สมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง เพราะมีจิตใจตั้งมั่น เห็นจิตเห็นใจอยู่ตลอดเวลา
ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด เพราะรู้แจ้งในสัจจธรรม

หลวงพ่อมีความเห็นเรื่องกิเลส ดังนี้
กิเลสอย่างหยาบ เป็นกิเลสของพวกเทวดา มีโลภ และติดสุข
กิเลสอย่างกลาง คือติดความสงบในการปฏิบัติสมถกรรมฐาน
กิเลสอย่างละเอียด คืออวิชชาและไม่เห็นจิตใจที่มันนึก มันคิด มันปรุงแต่ง
กิเลสกับกามคล้ายกัน แต่กามลึกซึ้งกว่า

อาสวะคือ กิเลส (อาสวกิเลส)
อาสวะคือ กาม (กามาสวะ) คือ ติดในอารมณ์ ติดความสงบ
อาสวะคือ ภพ (ภวาสวะ) คือ การก่อขึ้นในใจ
อาสวะคือ อวิชชา (อวิชชาสวะ) คือ ความไม่รู้ ไม่เข้าใจชีวิตจิตใจของตนเอง

คนที่ไม่ฉลาด ใครพูดอะไรก็เชื่อตะพึดตะพือ ไม่มีการไตร่ตรองและใช้สติปัญญาคิดว่าสิ่งที่เขาพูดมีเหตุผลสมควรเชื่อหรือไม่ เปรียบเสมือนคนหูหนวก ตาบอด เป็นคนน่าสงสาร

ธรรรมะเป็นเรื่องของผู้มีปัญญา ส่วนเรื่องงมงายเอาไว้หลอกคนโง่

คนบาป คนโง่ไม่มีปัญญา ชอบฟังและเชื่อคนดัง คนมีชื่อเสียง เพราะเข้าใจว่าเขาเก่ง เขารู้

คนมีบุญ มีปัญญารู้จักเลือกที่จะฟัง - เชื่อผู้รู้จริง รู้จักว่าอะไรเป็นของเก๊ อะไรเป็นของจริง เพราะยึดคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก

ต้องปฏิบัติจนได้พบสภาวะอาการเกิด - ดับ จึงจะเรียกว่าถึงที่สุดของทุกข์ ถ้ายังไม่พบสภาวะอาการเกิด - ดับ ยังไม่ถือว่าจบ ยังไม่ถึงที่สุดของทุกข์

มีตาทิพย์ คือ การเห็นตัวเองทั้งกาย - ใจ ไม่ใช่ไปเห็นคนอื่นว่าเขาทำอะไร คิดอะไร

หลวงพ่อเอาของจริงมาพูด มาเล่าให้ฟัง ถ้าหลวงพ่อไม่พูด ใครจะพูด จึงจำเป็นต้องพูดให้คนฟังถึงของที่มันคว่ำหน้าอยู่ ถ้าไม่ไปหงายขึ้นใครจะรู้จักสักที

เมื่ออยู่เหนือโลก เหนืออารมณ์ เหนือความคิดได้ มันก็ไม่ทุกข์

การติดตำรา ติดอดีต เป็นเรื่องนอกตัวทั้งนั้น

ความรู้จากตำราเป็นความรู้ของอวิชชา เป็นความจำธรรมดา ไม่ใช่สัญญา

คนที่ชอบถามโน่นถามนี่ เป็นคนไม่อยากรู้ ถ้าอยากรู้จริง ต้องปฏิบัติให้รู้เอง