มันจืดหมดตัว หมดเลยครับ ผมเคยพูดให้เพื่อนฟังบ่อยๆว่า เอาเชือกไนล่อนหรือเชือกอะไรก็ตามไปผูกไว้กับหลักสองหลัก ดึงให้มันตึงแล้วตัดตรงกลางครับ เมื่อตัดตรงกลางแล้วเชือกมันจะสะท้อนคืนไปอยู่กับหลักทางนั้นทางนี้ครับ เราจะดึงเข้ามาติดกัน ให้มันต่อกัน มันไม่ถึงครับ อันนี้จึงจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าตัดผมครั้งเดียว
(หลวงพ่อเทียน
จิตฺตสุโภ)
ทวนกระแสความคิด
ผู้รู้แจ้งเห็นจริง
มุมมองของหลวงพ่อเทียน
สติ - ความรู้สึกตัว
อาจารย์ผู้เดียวของข้าพเจ้า
พระคุณของหลวงพ่อ
หลวงพ่อเทียนและสิ่งที่ท่านมอบให้
วิปัสสนาจารย์
ทวนกระแสความคิด
อานิสงส์ของการเจริญสติ
สมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน
หนทางสู่นิพพาน
การปฏิบัติธรรมโดยไม่มีพิธีรีตอง
ต้นกำเนิดของความคิด
ทางลัดสู่การรู้แจ้ง
ทางลัดสู่การรู้แจ้ง
การปฏิบัติกรรมฐานมีหลายวิธี เช่นการภาวนาพุทโธ สัมมาอรหัง พองยุบ อานาปานสติ การเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียน ฯลฯ แต่ถ้าปฏิบัติไม่เหมือนกัน ก็จะเข้าใจต่างกัน เช่นการภาวนาพุทธโธก็จะเข้าใจอย่างหนึ่ง การเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียนก็จะเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง แต่มีคนส่วนมากเข้าใจว่าปฏิบัติวิธีไหนก็ได้ แล้วแต่วิธีไหนจะถูกจริตกับใคร เพราะในที่สุดก็จะเข้าถึงธรรมเช่นเดียวกัน แต่หลวงพ่อเทียนไม่เห็นด้วย ท่านบอกว่าท่านรู้ เห็น เข้าใจไม่เหมือนใคร ท่านจึงพูดไม่เหมือนใคร
แม้จะพูดว่า “เจริญสติ” คำเดียวกัน ก็ยังไม่ใช่ “สติ” ในความหมายเดียวกัน ตราบใดที่พูดว่าเจริญสติแต่ไม่มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย - ใจ ก็ยังไม่ใช่สติที่ถูกต้องของหลวงพ่อเทียน การเจริญสติไม่ใช่มีสติ-รู้ตัวเฉพาะเวลาตั้งใจปฏิบัติเท่านั้น วิธีเจริญสติของหลวงพ่อเทียนต้องมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย - ใจ ตั้งแต่ลืมตาตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน (หลับ) ต้องรู้ตัวตลอดเวลาและพยายามให้ต่อเนื่องนานที่สุด
หลวงพ่อพูดบ่อยๆ ว่า การทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล และปฏิบัติสมถกรรมฐาน มันก็ดีอยู่ แต่มันเป็นแค่การทำความดี และการพยายามทำจิตใจให้สงบ แต่ทำลายโทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทาน ไม่ได้ และจิตใจก็สงบเพียงชั่วคราว เพราะไม่มีปัญญาเห็น รู้ เข้าใจเรื่องชีวิต จิตใจ และกฎของธรรมชาติตามความเป็นจริง ยกตัวอย่างที่ตำราว่าศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ (โทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทาน) แต่คนถือศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือแม้แต่พระสงฆ์ที่ต้องรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ก็ยังกำจัดกิเลสอย่างหยาบไม่ได้ ส่วนการทำบุญ ให้ทานก็เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบ่งปันกัน ส่วนการปฏิบัติสมถกรรมฐานนั้น เป็นการคอยระวัง คอยคุม คอยบังคับกาย - ใจไว้ตลอดเวลา ไม่ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ถือว่าเป็นการเบียดเบียนตนเอง ดังนั้น การทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล และปฏิบัติสมถกรรมฐานจึงไม่ใช่ทางเพื่อความหลุดพ้น ไม่ใช่ทางที่จะพบความรู้แจ้งในสัจจธรรม ทั้งๆ ที่ทุกคนที่ทำเช่นนั้นล้วนต้องการได้บุญ แต่ไม่รู้ว่าบุญคืออะไร อยู่ที่ไหน ต้องการมีจิตใจผ่องแผ้ว แต่ไม่รู้วิธี จึงทำให้จิตใจผ่องแผ้วไม่ได้ ต้องการพ้นทุกข์ ต้องการพบพระนิพพาน แต่เพราะเสียเวลาไปรักษาศีล ไปปฏิบัติสมถกรรมฐาน จึงไม่เกิดปัญญารอบรู้ ทำให้เข้าถึงธรรมไม่ได้ พ้นทุกข์ไม่ได้ เข้าถึงพระนิพพานไม่ได้
หลวงพ่อจึงบอกว่า “ถ้าจะมาปฏิบัติกับหลวงพ่อ ไม่ต้องรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ หรอก แต่หลวงพ่อขอให้รักษาศีลใจอย่างเดียวเท่านั้น ให้ปฏิบัติจนกระทั่งขันธ์ ๕ มีศีล”
วิธีปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน เป็นทางลัดมากๆ ไม่ต้องผ่านเส้นทางสมถกรรมฐานเลย เป็นวิปัสสนาล้วนๆ ในขณะที่คนส่วนมากพูดกันว่าต้องปฏิบัติสมถกรรมฐานก่อนจึงจะขึ้นวิปัสสนาได้ แต่ดิฉันขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะได้พิสูจน์มาแล้วด้วยตัวเอง ดิฉันไม่เคยมีประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมมาก่อนเลย หลวงพ่อเทียนเป็นพระอาจารย์องค์แรกและองค์เดียวของดิฉัน ท่านให้เริ่มต้นด้วยการทำความรู้สึกตัวทันที ดิฉันไม่เคยรู้จักว่าสมถกรรมฐานเป็นอย่างไร
พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องอริยสัจจ์ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) เพื่อให้คนไปถึงที่สุดของทุกข์ เมื่อหลวงพ่อเทียนได้บรรลุธรรมโดยการทำความรู้สึกตัว ซึ่งเป็นวิธีที่ลัด ตรงไปสู่จุดหมายอย่างรวดเร็ว ท่านจึงไม่อยากให้พวกเราเสียเวลากับเรื่องงมงาย หรือมัวแต่ไปทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล ปฏิบัติสมถกรรมฐาน แต่ท่านให้เจริญสติหรือเรียกว่าปฏิบัติวิปัสสนาได้เลย มันอาจจะยากสำหรับคนที่มีจิตใจวุ่นวาย ฟุ้งซ่าน เพราะว่าถ้าปฏิบัติสมถกรรมฐาน ซึ่งเป็นการเพ่งหรือกำหนดจิต จะทำให้สงบได้เร็ว แต่นั่นเป็นความสงบเพียงชั่วคราว ถ้าหยุดกำหนด มันก็ฟุ้งอีก แต่วิธีของหลวงพ่อเทียนอาจจะใช้เวลานานกว่า เพื่อให้ได้ความสงบที่แท้จริง เพราะต้องให้เกิดปัญญา เห็น รู้ เข้าใจกฎของธรรมชาติตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีปัญญา รู้แจ้ง เห็นจริงตามความเป็นจริง ก็จะไม่มีความสงบที่ยั่งยืน เมื่อเราเห็น รู้ เข้าใจจิตใจตนเองแล้ว เราจึงจะสงบ
ปัญญาจากการเจริญสตินี้เกิดขึ้นเองจากฐานของสติ - ความรู้สึกตัว ในจิตใจที่ใส สะอาด สว่าง สงบ (เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของจิตใจ หรือจิตเดิมแท้ที่ปราศจากอวิชชา) ไม่ใช่การพิจารณา ถ้าปฏิบัติถูกวิธีและเทคนิคโดยไม่แฉลบออกนอกทาง ทุกคนจะเห็น รู้ เข้าใจอย่างเดียวกันทุกขั้นตอน เพราะมันคือของจริงหรือสัจจธรรม ธรรมชาติของใจมันไม่ได้เป็นทุกข์เลย ไม่มีอะไรปกคลุมเลย มันสะอาด สว่าง สงบ มันนิ่งมันเฉยๆ โดยตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ที่ทุกข์เพราะเราคิดคิดด้วยโมหะ และอวิชชา เพราะเราไม่เข้าใจจิตใจของตัวเอง อุปมาเช่นดวงอาทิตย์มันก็ส่องแสงสว่างของมันอยู่อย่างนั้นทั้งกลางวันและกลางคืน ถ้ามีหมอก เมฆมาบังมัน แสงสว่างของดวงอาทิตย์ก็จะมัวลง เหมือนกับจิตใจของเราที่มันสะอาด สว่าง สงบ มันเฉยๆ ไม่เป็นทุกข์ แต่ที่จิตใจสับสน วุ่นวาย มีความทุกข์ เพราะเราไม่รู้ตัว ไม่มีสติ โมหะจึงเข้ามาแทนที่ เมื่อมีโมหะ โลภะหรือโทสะก็จะตามมา ถ้าไม่มีโมหะ ก็จะไม่มีโลภะ โทสะ เพราะคนเรามีอวิชชา ไม่เข้าใจอริยสัจจ์ ๔ ไม่เข้าใจกฎของธรรมชาติและไม่เคยเห็นจิตใจของตัวเอง ฉะนั้นจึงต้องเจริญสติเพื่อให้เห็น ให้รู้ว่าธรรมชาติจริงๆ ของจิตใจเป็นอย่างไร เมื่อเราเห็นและเข้าใจมันแล้ว เราก็จะมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ทุกข์ เพราะสุขจริงๆ นั้นมันไม่มี มีแต่ทุกข์กับไม่ทุกข์เท่านั้น
เราเคยได้ยินครูบาอาจารย์ท่านว่าให้เดินทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา แต่ทำอย่างไรเราจึงจะรู้จักทางสายกลางจริงๆ เราต้องปฏิบัติจึงจะรู้จักมัน ถึงแม้จะฟังจากครูบาอาจารย์ อ่านหนังสือ และพยายามทำใจตามที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนและแนะนำ แต่ถ้ามีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นก็อาจจะรับไม่ไหว เพราะเราไม่ได้ฝึกจิตใจ ฝึกสติไว้ก่อน ถ้าไม่ฝึก ไม่ปฏิบัติ จะไม่มีทางรับมือกับมันได้ ทำไมหลวงพ่อจึงสอนให้ดูความคิด? ดิฉันเข้าใจว่าเมื่อก่อนไม่เคยมีใครพูดหรือสอนให้ทำความรู้สึกตัว และให้เห็นความคิด เลย มีหลวงพ่อเทียนเป็นองค์แรกและองค์เดียวเท่านั้นที่พูดเรื่องความรู้สึกตัว และให้เห็นความคิด ท่านบอกให้ทวนกระแสความคิด คือต้องเจริญสติให้ว่องไวเพื่อให้รู้เท่า รู้ทันความคิด เพราะความคิดเร็วมาก เร็วยิ่งกว่ากระแสไฟฟ้า เร็วกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง พอตาเห็นปุ๊บ มันปรุงแต่งมันคิดทันที ถ้าสติไม่ว่องไวเราจะไม่เห็นความคิด จะไม่ทันมัน จะถูกความคิดลากไป ซึ่งหลวงพ่อเรียกว่าเข้าไปในความคิด เข้าไปแล้วออกจากความคิดไม่ได้ หยุดความคิดไม่ได้ ถ้าเรารู้วิธี จะหยุดความคิดได้ และตัดให้มันสั้นลงๆ ได้
คนเราทุกข์เพราะความคิด ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ อยากเป็น ไม่อยากเป็น อยากมี ไม่อยากมี ฯลฯ มันจะออกมาในรูปของความคิดหรืออารมณ์ ส่วนกายนั้นเป็นทุกข์แน่นอนอยู่แล้ว เพราะว่ากายเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เมื่อก่อนที่จะฝึกเจริญสติ เรารู้สึกว่าใจเราเป็นทุกข์ เราอยากปฏิบัติเพื่อไม่ให้มันทุกข์ แต่มาได้ยินหลวงพ่อเทียนบอกว่าธรรมชาติของจิตใจมันสะอาด สว่าง สงบ มันไม่ทุกข์ ก็เก็บมาคิด สงสัย เพราะเคยได้ยินเขาสอนกันว่าจิตเป็นตัวทุกข์ ก็ยิ่งทำให้สับสนและสงสัยมากขึ้น ถ้าธรรมชาติของจิตใจมันเป็นทุกข์ เราปฏิบัติแล้วมันจะหายทุกข์หรือ? ถ้าธรรมชาติของจิตมันเป็นตัวทุกข์ จะปฏิบัติอย่างไรมันก็ต้องเป็นทุกข์เหมือนเดิม เพราะเป็นธรรมชาติของมัน แล้วจะปฏิบัติไปเพื่ออะไร ดังนั้นไม่ต้องเชื่อใครเลย ลองปฏิบัติดูเพื่อให้รู้เอง เห็นเอง เชื่อตัวเอง ให้เห็นธรรมชาติของใจหรือจิตเดิมแท้ว่าเป็นอย่างไร มันเป็นตัวทุกข์ล้วนๆหรือว่า มันสะอาด สว่าง สงบ มันเฉยๆ มันไม่ทุกข์ แล้วมันทุกข์ได้อย่างไรโทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทานเป็นอย่างไร ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นอิสระจากมัน ปฏิบัติไปจนกระทั่งศีลมันเกิดเองในกาย - ใจ ไม่ต้องรักษาศีล ไม่ต้องถือศีล ให้รู้ ให้เห็นว่าความสงบที่แท้จริงและยั่งยืนเป็นอย่างไร ให้รู้ เห็น เข้าใจไปเรื่อยๆ จนไปถึงจุดหมายปลายทาง คือ พบสภาวะอาการเกิด - ดับ และตายเสียก่อนตาย
เบื้องต้นของอารมณ์วิปัสสนาแบบหลวงพ่อเทียนจะเห็น รู้ เข้าใจ เรื่องกาย - ใจ เราจะรู้อย่างชัดเจนว่ากายเป็นอย่างไร ใจเป็นอย่างไร ทุกข์อยู่ที่กายหรือใจ และเข้าใจสมมติจนครบจนถ้วนแล้วจะรู้ว่าอะไรเป็นสมมติ อะไรเป็นปรมัตถ์ เมื่อเข้าใจมันแล้วก็จะไม่ยึดติดกับสมมติ เราจะเป็นอิสระจากมัน ต่อจากนั้นจะเข้าใจอารมณ์นามรูป เรื่องโทสะ โมหะ โลภะ; เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ; กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม เพราะเรารู้ เราเข้าใจแล้ว เราจึงสงบ มันจะรู้เป็นขั้นเป็นตอน พอรู้ลึกเข้า ลึกเข้า เราก็จะสงบมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งถึงที่สุดของทุกข์เมื่อไร เราก็จะมีความสงบอย่างสมบูรณ์ ผลของการเจริญสติจะทำให้เราค่อยๆ เห็น รู้ เข้าใจ จากเรื่องหยาบไปหาละเอียด เช่น ต้องรู้พื้นฐานเรื่องกายกับใจก่อน เพราะชีวิตคือกายกับใจ แล้วจึงมาศึกษาเรื่องใจล้วนๆ ปฏิบัติให้รู้จักจิตใจตัวเองว่า อะไรคือเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) คำตอบคือความคิดปรุงแต่ง
ถ้าเรามีสติ - ความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลาโมหะ (ความหลง) ก็ไม่มี เพราะที่มันมีอยู่ที่เดียว หรืออุปมาว่าเก้าอี้มีอยู่ตัวเดียว ถ้าเราปล่อยให้ความหลงเข้ามาครอบงำ สติ - ความรู้สึกตัวก็ไม่มีที่อยู่ เพราะโมหะ (ความหลง) มันยึดไว้แล้ว จึงหลงไปตามความคิด ไม่เห็นจิตเห็นใจ ทำให้สับสน หรือเป็นทุกข์ เมื่อเรารู้ว่าโมหะมันยึดที่ได้แล้ว เราจะทำอย่างไรจึงจะไล่มันออกไปได้ เราก็ต้องฝึกให้มีสติมากขึ้นๆ จนกระทั่งเรายึดที่คืนมาได้ เมื่อสติสมบูรณ์จนเป็นมหาสติ ใจจะเป็นสมาธิของมันเองบนฐานของมหาสติ เมื่อใจเป็นสมาธิ เราจะเห็นความปกติ ความสงบ ความตั้งมั่น - ไม่หวั่นไหวของใจ ปัญญาจะเกิดขึ้นในสมาธินั้นโดยไม่ได้พิจารณา มันคือธรรมะแท้ที่ปรากฏให้เราเห็น รู้ เข้าใจ นี่แหละจึงเรียกว่ารู้แจ้งเห็นจริงด้วยปัญญา ความรู้เช่นนี้จะรู้ไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เป็นพระหรือฆราวาส จะรู้อย่างเดียวกันถ้าเป็นความเข้าใจด้วยปัญญา
ดิฉันได้พิสูจน์มาแล้วว่าคำพูดของหลวงพ่อเป็นความจริงทุกอย่าง มันไม่ได้ยากเกินความสามารถของเรา แต่ต้องมีความเพียรจริงๆ ไม่ใช่ทำเล่นๆ ถ้าเป็นคนที่มีความตั้งใจจริงและทำจริง จะรู้อย่างแน่นอน ถ้าทำไม่จริงอย่าทำดีกว่า การปฏิบัติธรรมไม่ใช่ของเล่น หลวงพ่อบอกว่า “ธรรมะเป็นของผู้มีปัญญา สิ่งที่งมงายทั้งหลายเป็นของคนโง่” ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร? เราต้องทำเอง ให้มันปรากฏขึ้นให้ได้ เพราะมันอยู่ในตัวเรานี่เอง เราจะทำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง หลวงพ่อบอกวิธีและเทคนิคที่ละเอียดและชัดเจนให้แล้ว จะทำหรือไม่ ก็พิจารณาไตร่ตรองดูว่า คำสอนของหลวงพ่อเทียนมีเหตุ มีผลหรือไม่ การอ่านหนังสือธรรมะ หรือไปฟังเทศน์ฟังธรรมก็ไม่ได้ช่วยให้เราเป็นอิสระจากโทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทาน เราปฏิบัติให้รู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง ไม่ดีกว่าหรือ? การอ่านตำรา คำสอนของท่านผู้รู้ แล้วเอาข้อคิดนั้นมาใช้ ก็อาจช่วยให้เราทำใจได้บ้างนิดๆ หน่อยๆ เมื่อเรามีทุกข์ แต่ถ้าต้องเจอปัญหาหนักๆ สติ - ปัญญาเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาให้เราได้ ที่เราเคยได้ยินว่า “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด” นั่นใช่เลย!
หลวงพ่อบอกว่าความคิดจะเกิดหรือไม่ก็ช่างมัน แต่สติของเราต้องได้รับการพัฒนา ต้องเจริญสติอยู่เสมอให้มันมากๆ ให้มันว่องไวขึ้นๆ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น สติจะได้รู้ทันมัน คือคิดปุ๊บ เห็นปั๊บ พอเห็นปั๊บความคิดจะหยุดลงทันที มันหยุดเอง ไม่ต้องไปข่ม ไปคุมมัน ไม่ต้องบังคับมัน ปล่อยให้มันคิด ขณะเรามีสติ ความคิดจะไม่เกิดหรือมีน้อย แต่ถ้าสติหลุดหรือขาดตอน ความคิดก็จะเกิดทันที เมื่อเราเห็นปุ๊บ ความคิดหยุดปั๊บ (it stops or disappears) ไม่ใช่ Extinguish (ดับ) ความคิดมี ๒ อย่าง คือ ความคิดด้วยสติและความคิดปรุงแต่ง ความคิดชนิดหลังนี้ทำให้เราเป็นทุกข์ เพราะเราไม่มีสติรู้ทันมัน เราจึงเป็นเหยื่อของมัน นี่คือความคิดชนิดที่เราต้องจัดการมันและเอาชนะมันให้ได้ ถ้าช่วงไหนมันไม่คิด แสดงว่าขณะนั้นเรามีสติ โมหะจึงไม่มี แต่ถ้าเมื่อใดมันคิด ก็ไม่เป็นไร จะได้เอาความคิดนี้มาทดสอบว่าสติของเราสมบูรณ์ - ว่องไวหรือไม่ สมมติว่าเรามีสติรู้ทันครั้งแรกเมื่อมันคิดไปแล้ว ๓๐ นาที ถ้าเราพัฒนาสติให้ว่องไวขึ้น ครั้งต่อไปสติจะรู้ทันความคิดที่ ๒๕ นาที, ๒๐ นาที, ๑๕ นาที, ๑๐ นาที เป็นต้น จนในที่สุดเราจะเห็นต้นกำเนิดของความคิดได้ เมื่อใดความคิดเร็ว สติ - ปัญญาก็จะเร็วเช่นกัน เมื่อมันประจันหน้ากัน มันก็จบ หมดเรื่องกัน หลังจากนั้นเราจะเป็นนายมันได้ เพราะความคิดปรุงแต่งถูกทำลายไปแล้ว จะมีความคิดเหลืออยู่เพียงอย่างเดียวคือ ความคิดด้วยสติ ปัญญา