ทวนกระแสความคิด

คำสั่งสอนของครูและอาจารย์ทั้งหลายในโลกนี้เปรียบเสมือนใบไม้ในป่า แต่ใบไม้ที่สามารถนำมาทำยาได้มีเพียงเล็กน้อย อย่าได้เอามาทั้งหมด ทั้งรากและลำต้น เมื่อมาปฏิบัติกรรมฐาน เราควรเอาเฉพาะสิ่งที่สามารถป้องกันมิให้ทุกข์เกิด สามารถดับทุกข์ได้ที่ต้นเหตุของมัน สามารถทำลายโมหะ (ความหลง) เราเอาเฉพาะแก่นของมัน แก่นคำสอนที่พูดถึงนี้คือ การมีสติ สมาธิ ปัญญา และเห็นความคิด เมื่อความคิดเกิดขึ้น ให้เห็นมัน รู้มัน ทุกครั้ง และรู้ถึงวิธีป้องกันมิให้มันมาลวงเราได้ วิถีทางดับทุกข์ของพระพุทธเจ้ามีมากมายหลายวิธี ให้รู้จักเลือกเอาด้วยสติ-ปัญญา

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในการปฏิบัติธรรมคือเรื่องความสงบ เพราะหากเข้าใจผิดอาจทำให้เสียเวลาและไม่ก้าวหน้า ความสงบมี ๒ อย่าง คือ

  1. ความสงบแบบสมถะ เป็นความสงบแบบไม่รู้ เพราะไม่มีญาณปัญญา เป็นความสงบอยู่ใต้โมหะ
  2. ความสงบแบบวิปัสสนา เป็นความสงบแบบรู้แจ้ง รู้จริง เห็นแจ้ง เห็นจริง

การเจริญสติสามารถปฏิบัติขณะทำการงานอะไรก็ได้ทุกอย่าง ไม่ต้องนั่งนิ่ง แต่ให้รู้การเคลื่อนไหวของกายและใจอยู่ทุกขณะ กายจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็ให้รู้ การเคลื่อนไหวของใจคือความคิด มันคิดขึ้นมาเมื่อไรก็ให้รู้มัน เห็นมัน ให้รู้เท่า - รู้ทัน รู้จักกัน รู้จักแก้ เมื่อปฏิบัติเช่นนี้อย่างต่อเนื่องจนสมบูรณ์แล้ว จะมีญาณปัญญาเกิดขึ้น จะเห็น จะรู้ จะเข้าใจ ปฏิบัติให้เป็นสันทิฏฐิโก ผลคืออวิชชาจะหายไป ปัญญาจะเกิดขึ้นแทน ความโง่หายไป ความฉลาดเข้ามาแทนทันทีทันใด ความมืดและความหนักอกหนักใจจะหายไป ความสว่างความสงบจะเกิดขึ้นแทน ขอให้เราเจริญสติเจริญปัญญาให้สมบูรณ์ โทสะ โมหะ โลภะ ก็จะหายไป แต่คนผู้นั้นก็ยังคงมีเวทนา แต่ไม่เป็นทุกข์ มีสัญญา แต่ไม่เป็นทุกข์ มีสังขาร แต่ไม่เป็นทุกข์ มีวิญญาณ แต่ไม่เป็นทุกข์ สามารถดำรงชีวิตอย่างคนสามัญ ทำการงานตามหน้าที่ กิน เดิน นั่ง นอน เช่นคนปกติ จะเป็นฆราวาสก็ได้ จะเป็นพระสงฆ์ก็ได้

ชีวิตจิตใจของทุกคนมีความสะอาด ความสว่าง ความสงบอยู่แล้ว เพียงแต่เขาผู้นั้นจะมาศึกษาถึงความหลุดพ้นหรือไม่เท่านั้น เราจะพบความหลุดพ้นจริงๆ ได้โดยการเจริญสติมีความรู้สึกตัว จึงจะหลุดพ้นจากโทสะ โมหะ โลภะ หลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน และกรรม

วิธีปฏิบัติ

ในการปฏิบัติต้องมีวิธีและเข้าใจเทคนิค วิธีปฏิบัติ คือการยกมือสร้างจังหวะ หรือหมุนนิ้วมือ หรือเดินจงกรม เป็นเทคนิคเพื่อไม่ให้เราอยู่นิ่งๆ ให้เราได้ฝึกสติ - ความรู้สึกตัวในการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง

  1. ต้องเข้าใจว่า สติ หมายถึง ความรู้สึกตัว เพียงแค่ความรู้สึกเท่านั้น ไม่ลึกไปกว่านั้น ไม่ไกลไปกว่านั้น (ไม่ใช่รู้สึกว่าเดิน รู้สึกว่าหายใจเข้า รู้สึกว่าหายใจออก อย่างนี้ผิด เอาแค่รู้สึกเฉยๆ เท่านั้น) ให้มีสติรู้ในการเคลื่อนไหวของทั้งกายและใจ มันคิดก็ให้รู้ กายเคลื่อนไหวก็ให้รู้
  2. ต้องเข้าใจว่า เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับกายหรือใจ ให้รู้แล้วปล่อยไป ไม่ต้องไปรู้ว่านั่นโลภะ นั่นโทสะ อย่างนั้นมันรู้สึกเกินความจำเป็น กลายเป็นการจำแนกแยกแยะ ให้รู้แล้วปล่อย เช่น ลมพัดมา ก็ให้รู้สึกในการสัมผัส ไม่ต้องรู้ว่าเป็นอะไร เอาแค่เพียงรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นต่างจากปกติ (ตอนที่ไม่มีลม) แค่นั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องจำแนกแยกแยะอะไรเข้า มันจะยุ่ง

ในการเจริญสติโดยการสร้างจังหวะนั้น อย่าไปเพ่ง ไปจ้องความรู้สึก ทำสบายๆ อย่าให้เครียดและเอาจริงเอาจัง ดังนั้นในการปฏิบัติจึงต้องมีวิธีและเข้าใจเทคนิคที่ถูกต้อง ถ้ารู้วิธีแต่เข้าใจไม่ถูกต้อง ก็ไม่ได้ผลอะไร ฉะนั้นการปฏิบัติการเจริญสติให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย - ใจจึงต้องประกอบด้วยวิธีและความเข้าใจที่ถูกต้อง

บทสรุป

  1. การปฏิบัติเป็นเรื่องที่เราต้องทำด้วยตนเอง ให้รู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง ค้นพบในตัวเอง
  2. ต้องมีวิธีและเข้าใจเทคนิคที่ถูกต้อง
  3. ต้องเคลื่อนไหวอยู่เสมอ อย่าอยู่นิ่ง
  4. ต้องตั้งใจทำตามวิธีและเทคนิคให้ถูกต้อง แต่ทำอย่างไร้เจตจำนงค์ใดๆ ผลจะเกิดขึ้นเอง

วิธีเจริญสติแบบเคลื่อนไหว

  1. เอามือทั้งสองวางไว้บนขาทั้งสองข้าง
  2. พลิกมือขวาขึ้น ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก
  3. ยกมือขวาขึ้น ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก
  4. เอามือขวาลงมาไว้ที่สะดือ ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก
  5. พลิกมือซ้ายขึ้น ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก
  6. ยกมือซ้ายขึ้น ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก
  7. เอามือซ้ายมาไว้ที่สะดือทับมือขวา ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก
  8. เลื่อนมือขวามาไว้ที่อก ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก
  9. เคลื่อนมือขวาออกไปขนานกับขาขวา ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก
  10. เอามือขวามาตั้งไว้บนขาขวา ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก
  11. คว่ำมือขวาลงบนขาขวา ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก
  12. เลื่อนมือซ้ายขึ้นมาที่อก ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก
  13. เคลื่อนมือซ้ายออกไปขนานกับขาซ้าย ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก
  14. เอามือซ้ายมาตั้งไว้บนขาซ้าย ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก
  15. คว่ำมือซ้ายลงบนขาซ้าย ให้รู้สึก แล้วหยุด ก็รู้สึก

ปัญญาจากการเจริญสติ

เราควรปฏิบัติการเจริญสติให้มาก จนกระทั่งมีสติมากขึ้นๆ สมาธิมากขึ้นๆ ปัญญาจะเกิดขึ้นเอง เราจะรู้ เข้าใจเรื่องชีวิตจิตใจของตัวเรา ไม่ใช่รู้เรื่องนอกตัว

ขั้นแรก รู้ รูป - นาม รู้การกระทำของรูป - นาม หรือที่เรียกว่า รูปทำ นามทำ

รูปทำ เช่น การเคลื่อนไหว ยืน เดิน นั่ง นอน

นามทำ เช่น ความคิด ความรู้สึก
รู้ รูปโรค นามโรค
รูปเป็นโรค เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ฯลฯ
นามเป็นโรค เช่น ความคิด ความพอใจ ความไม่พอใจ ฯลฯ

หลังจากนี้เรารู้ เข้าใจเรื่อง ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา
ทุกขัง อยู่ติดกับรูป รูปคือก้อนทุกข์ชนิดหนึ่ง
ทุกขัง หมายความว่า ทนไม่ไหวที่จะไม่มีการเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลง
อนิจจัง หมายความว่า ไม่เที่ยง
อนัตตา หมายความว่า บังคับหรือควบคุมไม่ได้ มันต้องเป็นเช่นนั้นตลอดเวลา

ต่อมาเรารู้และเข้าใจเรื่องสมมติ รู้ว่าสมมติเป็นอย่างไร เช่น ธนบัตรเป็นกระดาษชนิดหนึ่งที่เราสมมติขึ้นให้มีค่ามีราคา สิ่งใดที่เป็นสมมติจงรู้ให้ครบให้จบให้ถ้วนทุกสิ่งทุกอย่าง

การรู้หรือ ปัญญา เกิดขึ้นจาก การมี สติ สมาธิ ปัญญา เป็นการรู้ เข้าใจสัจจธรรม

ถ้าเป็นจริงโดยสมมติ (สมมติบัญญัติ) เราก็รู้ ถ้าเป็นจริงโดยปรมัตถ์ (ปรมัตถ์บัญญัติ) เราก็รู้ ผี เทวดา นรก สวรรค์ บาป บุญ ต่างก็เป็นจริง โดยสมมติและปรมัตถ์ (สมมติ - ปรมัตถ์)

หลังจากนั้นเรารู้เรื่องศาสนา ซึ่งไม่ได้หมายความถึงวัด แต่ ศาสนา หมายความว่าที่พึ่ง ส่วน พุทธ แปลว่า ผู้ตื่นจากความหลง ผู้มีปัญญา ดังนั้น พุทธศาสนา จึงแปลว่า ที่พึ่งอันอุดมด้วยสติปัญญา ศาสนานี้มีอยู่ในบุคคลทุกคนที่มีสติ สมาธิ ปัญญา หรือมีจิตใจที่สะอาด สว่าง สงบ

ถ้าเราเพียงแต่ศึกษาแต่ไม่ปฏิบัติ ความรู้นั้นก็เป็นเพียงการจดจำ ไม่ใช่การรู้แจ้งเห็นจริง ผลของการเจริญสติถึงขั้นนี้ ทำให้เราไม่ยึดในสมมติ ความรู้ที่เกิดจากการเจริญสติทำให้เข้าใจสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง หรือเรียกว่า วิปัสสนาญาณ

ขั้นต่อมา เราจะรู้ เข้าใจอารมณ์ นามรูป
ให้ปฏิบัติการเจริญสติโดยการเคลื่อนไหวให้มีความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่องเหมือนเดิม แต่ให้มีสติเห็นความคิด มันคิดทุกครั้งให้รู้ ให้เห็นมัน แต่ไม่ต้องไปสนใจมัน เมื่อเห็นมัน มันจะหายไป เมื่อมีสติมากขึ้นๆ ความคิดจะสั้นลง จะน้อยลงๆ

ในขั้นนี้เราจะเห็น รู้ เข้าใจ และสัมผัสได้เรื่อง วัตถุ - ปรมัตถ์ - อาการ

วัตถุ คือทุกสิ่งที่มีอยู่จริง
ปรมัตถ์ คือกำลังเห็น กำลังเป็น กำลังมี กำลังสัมผัสอยู่ในขณะนั้น
อาการ คือการเปลี่ยนแปลง
การรู้วัตถุ - ปรมัตถ์ - อาการ หมายถึง กำลังเห็น กำลังเป็น กำลังมี กำลังสัมผัสการเปลี่ยนแปลงในขณะนั้นของสิ่งที่มีอยู่จริง

เมื่อเราเข้าใจมันชัดเจนแล้ว เราจะเห็น รู้ เข้าใจ และสัมผัส โทสะ โมหะ โลภะ เพราะว่ามันเป็นวัตถุ - ปรมัตถ์ - อาการ หลังจากที่รู้ เข้าใจเรื่องนี้แล้ว จะเกิดปีติ แต่อย่าสนใจมัน แล้วจะเห็น จะรู้เรื่องเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ไม่เป็นทุกข์ จิตใจจะเปลี่ยนทุกครั้งเมื่อปัญญาเกิดขึ้น ความไม่รู้ก็จะหายไป จงปฏิบัติต่อไป อย่าติดอยู่กับปีติ ขณะที่ปัญญาเกิดขึ้นสติจะน้อยลง แต่เราจะไม่มีวันหลงลืมอารมณ์วิปัสสนานี้เลย

เจริญสติต่อไป ทำความรู้สึกตัวให้มากขึ้นๆ ญาณปัญญาจะเกิดขึ้นเอง จะเห็น จะรู้ จะเข้าใจ กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม เมื่อเราเห็นมันและเข้าใจมัน กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม จะลดน้อยลงและค่อยๆ จางไปเอง เมื่อญาณปัญญาเกิดขึ้น เราจะมั่นใจในความรู้ของตัวเอง เมื่อรู้ถึงจุดนี้ ปีติจะเกิดขึ้นอีก ระวังอย่าไปติดปีติ จงปฏิบัติต่อไปแล้วจะเห็น รู้ เข้าใจ เรื่องศีล ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์

ศีล คือความปกติของกาย วาจา ใจ
ขันธ์ หมายถึง สิ่งรองรับ หรือ หมวด หมู่
ศีลขันธ์ คือการมีกาย วาจา ใจ เป็นปกติ มีความรู้สึกเฉยๆ (ในขันธ์มีศีล) ศีลเกิดขึ้นเมื่อกิเลสอย่างหยาบ คือ โทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม ถูกทำลายจางคลายไป
สมาธิ เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง คือ การติดความสงบอย่างไม่รู้ ซึ่งเป็นกิเลสประเภทอาสวะ: กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ
สมาธิขันธ์ คือกาย - ใจมีความตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว (ในขันธ์มี/เป็นสมาธิ)
ปัญญา เป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด คือ อวิชชา
ปัญญาขันธ์ คือ มีปัญญาในจิตใจ (ในขันธ์มีปัญญา)

หลังจากรู้เรื่องศีล ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ แล้ว จะรู้ว่าความสงบมี ๒ อย่างคือ

  1. สงบแบบสมถะ เป็นความสงบอย่างไม่รู้ เหมือนอยู่ในถ้ำ เพราะไม่มีอารมณ์ ไม่มีปัญญา
  2. สงบแบบวิปัสสนา เป็นความสงบอย่างรู้แจ้ง เห็นจริง สงบด้วยปัญญาจากการเจริญสติ เราจะพบความสงบที่มีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำขึ้น เป็นความสงบจากโทสะ โมหะ โลภะ;กิเลส ตัณหา อุปาทาน เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา สติจะมาทันที เนื่องจากสติ สมาธิ ปัญญาอยู่ที่นั่นแล้ว โทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทานจึงไม่มี ถ้าบุคคลใดไม่ได้เจริญสติ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น บุคคลนั้นจะไม่มีมัน ทั้งๆ ที่มันอยู่ที่นั่นแล้ว

หลังจากนั้นเราจะรู้ เข้าใจ เรื่อง นรก - สวรรค์ ถ้านรกมีจริงเราจะตกนรกขุมไหนสำหรับการทำชั่วทางกาย หรือวาจา หรือใจ แต่ละชนิด หรือการทำชั่วพร้อมกันทั้งกาย วาจา ใจ

สำหรับการทำดีเราจะรู้ว่ามันเป็นบุญอย่างไร ถ้ามีสวรรค์จริงๆ เราจะไปสวรรค์ชั้นไหน สำหรับการทำดีทางกาย หรือวาจา หรือใจ แต่ละชนิด หรือการทำดีพร้อมกันทั้งกาย วาจา ใจ

เมื่อปฏิบัติจนจบอารมณ์ของการเจริญสติวิธีนี้ เราจะเห็นต้นกำเนิดของความคิด ถึงที่สุดของทุกข์ จะเห็น จะรู้ จะเข้าใจ จะหมดสิ้นสงสัยเรื่องชีวิต - จิตใจ จิตใจจะเปลี่ยนเป็นครั้งสุดท้าย จะมีจิตใจที่สะอาด สว่าง สงบ และเป็นอุเบกขาตลอดไป บุคคลนั้นจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยสติ - ปัญญาที่สมบูรณ์ เพราะรู้แจ้ง เห็นจริงตามความเป็นจริง อวิชชาหมดไป แต่ยังคงมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ไม่เป็นทุกข์ ดังนี้คือ

เวทนาเสวยอารมณ์ ไม่ทุกข์
สัญญาเห็น รู้ เข้าใจด้วยปัญญา จึงไม่หลงลืมอารมณ์
สังขารไม่ถูกปรุง เพราะสังขารขันธ์ถูกทำลายแล้ว
วิญญาณรู้ ตามความเป็นจริง เพราะอยู่กับสติ - ปัญญา