เมื่อความคิดเร็ว สติ – ปัญญาก็เร็วด้วย เมื่อความคิดลึก สติ – ปัญญาก็ลึกด้วย เมื่อมันประจันหน้ากันจะทำให้เกิดการแตกออกอย่างฉับพลันของสภาวะที่มีอยู่แล้วในคนทุกคน จิตใจจะกลับเข้าสู่สภาพเดิมของมัน จะรู้เองว่าจบแล้ว ไม่มีกิจใดต้องทำอีกแล้ว
( อัญชลี ไทยานนท์ )

ทวนกระแสความคิด
ผู้รู้แจ้งเห็นจริง
มุมมองของหลวงพ่อเทียน
สติ - ความรู้สึกตัว
อาจารย์ผู้เดียวของข้าพเจ้า
พระคุณของหลวงพ่อ
หลวงพ่อเทียนและสิ่งที่ท่านมอบให้
วิปัสสนาจารย์
ทวนกระแสความคิด
อานิสงส์ของการเจริญสติ
สมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน
หนทางสู่นิพพาน
การปฏิบัติธรรมโดยไม่มีพิธีรีตอง
ต้นกำเนิดของความคิด
ทางลัดสู่การรู้แจ้ง

วิปัสสนาจารย์

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วกว่า ๒๕๐๐ ปี ธรรมะที่พระองค์ทรงพบและนำมาสอนพวกเรานั้น บางเรื่องก็เป็นที่เข้าใจได้ บางเรื่องก็ล้ำลึกเกินกว่าสติ - ปัญญาของมนุษย์ปุถุชนจะเข้าใจได้ บางครั้งธรรมะที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ได้ถูกนำมาตีความโดยผู้รู้และครูบาอาจารย์มากมายหลายท่าน เมื่อคนที่ยังไม่มีปัญญาไปได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ก็เข้าใจว่าการตีความนั้นเป็นสิ่งถูกต้องแล้ว เป็นธรรมะตามความหมายของพระพุทธองค์ เพราะผู้พูด ผู้สอนเป็นผู้มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากบุคคลทั่วไป ครูบาอาจารย์บางองค์/บางคนได้รับการยกย่อง (จากพระสงฆ์และศิษยานุศิษย์ของท่าน) ว่าเป็นผู้รู้ธรรมขั้นสูงระดับพระอริยบุคคล ดังนั้น ประชาชนและพุทธศาสนิกชนจึงมีศรัทธา เชื่อถือว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้รู้ธรรม จะพูด จะสอนอะไร คนก็เชื่อ

ถ้าเป็นธรรมะแท้ต้องรู้อย่างเดียวกัน ผู้รู้แจ้งเห็นจริงย่อมเข้าใจธรรมอย่างเดียวกัน มีทิฏฐิเดียวกัน ท่านย่อมเข้าใจและตีความธรรมะและคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ถูกต้อง แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านใดเป็นผู้รู้จริง ในเมื่อตัวเราเองก็ยังไม่มีปัญญา เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นก็มีการสอนกรรมฐานต่างกันหลากหลายวิธี ทุกสำนักต่างกล่าวว่าสำนักของตนสอนถูกต้องที่สุด และเป็นสายวิปัสสนากรรมฐานที่แท้จริง

วิธีปฏิบัติของบางสำนักก็คล้ายคลึงกับของสำนักอื่น จะต่างกันที่คำบริกรรมเท่านั้น และหลายสำนักก็มีวิธีและเทคนิคต่างจากสำนักอื่นๆ แม้บางครั้งเรียนมาจากสำนักเดียวกัน เคยเป็นศิษย์อาจารย์เดียวกัน แต่เมื่อแยกออกมาตั้งสำนักของตัวเอง วิธีและเทคนิคดั้งเดิมของอาจารย์ก็ถูกเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้มาปฏิบัติใหม่เข้าใจผิดว่าสำนักนั้นสอนเช่นนั้นจริงๆ อาจารย์บางท่านก็อาจใช้ประสบการณ์ที่ท่านเคยได้รับการสั่งสอนและได้ยินได้ฟังมาจากครูบาอาจารย์หลายๆ องค์/ท่าน แล้วนำวิธีปฏิบัติและเทคนิคมาปรับ/เปลี่ยนใหม่ เมื่อปฏิบัติแล้วท่านก็รู้ เข้าใจแบบของท่าน ซึ่งแตกต่างไปจากอาจารย์ กรณีเช่นนี้ก็มีเหมือนกัน

ปัญหาในการเลือกสำนักปฏิบัติและอาจารย์จึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนใหม่ๆ ที่สนใจการปฏิบัติธรรม มีความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ ว่าควรเลือกอาจารย์ท่านใด จะปฏิบัติวิธีใดจึงจะถูกต้อง

สิ่งที่ควรจะนำมาใช้ในการพิจารณา คือ

  1. ศึกษาหลักพุทธศาสนาให้เข้าใจเสียก่อนว่า อะไรคือแก่นคำสอนของพระพุทธองค์
  2. อริยสัจจ์ ๔ คืออะไร
  3. พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้เจริญสติปัฏฐาน๔ เป็นหลักในการปฏิบัติ
  4. พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องกาลามสูตร (๑๐ ข้อ) ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติใหม่ควรอ่านและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้
  5. ปฏิบัติแล้วต้องเกิดปัญญา เข้าใจกฎของธรรมชาติ เกิดความรู้แจ้งในสัจจธรรม (นิโรธ)

เมื่อเข้าใจเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง ๕ ข้อแล้ว ขั้นต่อไปคือการศึกษาธรรมะ คำสอน และวิธีปฏิบัติของอาจารย์ท่านต่างๆ ว่า ท่านสอนอะไร ตรงกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ท่านพูดให้เราเข้าใจได้หรือไม่ ถ้าเราฟังแล้วเกิดความสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก เราก็ต้องพิจารณาแล้วว่าเราจะเป็นศิษย์ของท่านไหม อาจารย์บางท่านพูดเก่ง หรือชอบพูดเรื่องยากๆ ที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา จึงไม่สามารถเข้าใจคำพูดของท่านได้เลยสักอย่าง เพราะการพูดให้ผู้ที่ยังไม่มีปัญญาฟัง อาจารย์ยังไม่ควรพูดเรื่องที่ลึกและยากเกินสติ - ปัญญาของผู้ฟัง ถ้าเป็นผู้รู้จริง ท่านย่อมอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ โดยการยกอุปมา หรืออาจหลีกเลี่ยงไม่พูด ไม่อธิบาย แต่รอให้เราเห็นเอง รู้เอง จะทำเพียงแนะนำวิธีและเทคนิคการปฏิบัติที่ถูกต้องให้นำไปปฏิบัติเท่านั้น ผู้รู้จริงจะพูด จะสอนด้วยความชัดเจน ไม่คลุมเครือ มีเหตุผลเป็นที่เข้าใจได้ พูดจากปัญญาของตนเอง ไม่ใช่ลักเอาคำพูดของผู้อื่นมาอวดอ้างว่าเป็นความรู้ของตนเอง เป็นการอวดอุตริมนุสธรรม เพราะพูดๆ ไปจะจับต้นชนปลายไม่ถูก ทำให้ผู้ฟังยิ่งสับสนมากขึ้น

ดังนั้น การเลือกอาจารย์จึงต้องใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ใช้วิจารณญานให้รอบคอบ มิฉะนั้น จะเป็นการเสียเวลาและหลงทาง ชีวิตนี้สั้นนัก วันเวลาผ่านไปรวดเร็วเหมือนมีปีกบิน เราจึงไม่ควรเสียเวลาไปกับความงมงาย ไร้เหตุผล มีอุปาทาน มีจิตใจมืดบอด มิฉะนั้น จะเสียเวลาไปเปล่าๆ เราทุกคนมีความคิดและสติ - ปัญญา ถ้าเราไตร่ตรองด้วยสติ-ปัญญา เราจะคิดออกว่าท่านพูดมีเหตุผลหรือไม่ ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่

ในกรณีที่บุคคลใดสนใจและศรัทธาในธรรมะและคำสอนของหลวงพ่อเทียน ควรอ่านหนังสือของท่านและฟังท่านพูด - สอนในเทปหรือซีดีให้มากๆ และทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่าท่านสอนอะไร ปฏิบัติแล้วทำลายโทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทาน ได้หรือไม่และอย่างไร จะไปถึงที่สุดของทุกข์ได้อย่างไร และท่านมีวิธีปฏิบัติและเทคนิคอย่างไร เรื่องนี้สำคัญที่สุด เพราะเป็นหัวใจของการเจริญสติตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

หลวงพ่อบอกว่า “สติ” ในความหมายของท่านคือ การรู้สึกได้ในสิ่งที่กำลังรู้ เช่น พลิกมือก็รู้ หายใจก็รู้ กระพริบตาก็รู้ หลวงพ่อยืนยันว่า “สติ” ในความหมายของท่านไม่ใช่การระลึกได้หรือระลึกรู้ “สติ - ความรู้สึกตัว” ในความหมายของหลวงพ่อ ถือว่าเป็นมรรค

ก่อนตัดสินใจปฏิบัติธรรมจะต้องมีความเข้าใจในคำสอนของหลวงพ่อเทียนให้ดีเสียก่อน ถ้าไม่เข้าใจก็จะไม่มีศรัทธา เพราะการปฏิบัติธรรมต้องใช้ความเพียรอย่างสูง จึงต้องมีศรัทธาในธรรมะและคำสอนของหลวงพ่อก่อน ด้วยเหตุนี้ จึงแนะนำให้ศึกษาและอ่านการบรรยายธรรมของหลวงพ่อให้เข้าใจชัดเจนเสียก่อน ถ้าศรัทธาคำสอนและธรรมะของหลวงพ่อแล้ว วันหนึ่งเราก็จะอยากปฏิบัติเองด้วยความเต็มใจและมีความเพียรเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย

หลวงพ่อเทียนบอกว่าการพูดธรรมะต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่พูดเอาใจคนนั้นคนนี้ หรือพูดอย่างประนีประนอม อะไรใช่ก็ว่าใช่ อะไรที่ไม่ใช่ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่ เช่น การที่หลวงพ่อพูดถึงความแตกต่างระหว่างสมถกรรมฐานกับการเจริญสติที่จะได้ความสงบต่างกัน ขณะที่การเจริญสติหรือเจริญวิปัสสนาจะได้ความสงบเพราะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง จึงเป็นความสงบที่แท้จริง ในขณะที่การปฏิบัติสมถกรรมฐานเป็นการข่มหรือคุมอารมณ์ไว้ ไม่เป็นธรรมชาติ เมื่อเกิดความสงบเพียงชั่วคราว ก็ใช้วิธีพิจารณาเอา ซึ่งทำให้เข้าใจได้ไม่ลึกซึ้งเท่ากับการรู้และเข้าใจด้วยปัญญาล้วนๆ หลวงพ่อเทียนจึงพูดตามความเข้าใจของท่านอย่างไม่มีการประนีประนอม ท่านพูดเสมอว่า “หลวงพ่อยอมเสียสละชีวิตเพื่อรักษาสัจจธรรม”

เรามาปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร? เพื่อให้เข้าใจทุกข์ เพื่อเอาชนะโทสะ โมหะ โลภะ เพื่อดับกิเลส เพื่อให้ความยึดมั่นถือมั่นหมดไป เพื่อให้เกิดปัญญารอบรู้ เข้าใจสรรพสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จะได้มีชีวิตอยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ ก่อนมาปฏิบัติธรรม คนส่วนมากก็มีอุปาทานอยู่แล้วมากมายหลายเรื่อง เช่น มีความเชื่อว่าผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องมีบุคลิกเช่นนั้นเช่นนี้ และไม่เชื่อว่าฆราวาส (ทั้งหญิงและชาย) สามารถเข้าถึงธรรมได้ แล้วเราถามตัวเองหรือเปล่าว่า เรามาปฏิบัติเพื่ออะไร? ถ้ารู้ธรรม-เข้าถึงธรรมไม่ได้ แล้วเราปฏิบัติเพื่ออะไร? ปกติคนที่มีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น นอกจากจะมีความทุกข์แล้ว ยังเป็นคนน่าสงสารอีกด้วย บางคนก็มีความเชื่อว่าผู้รู้ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะต้องมีบุคลิกตามอุดมคติและความคาดเดาของเขา หลวงพ่อเทียนบอกว่า “ผู้รู้ มีไม่มาก” เมื่อได้พูดจากัน จึงจะรู้ภูมิธรรมของคู่สนทนาว่าเป็นผู้รู้จริงหรือไม่

ความรู้สึกตัวจะนำไปสู่การมีสติ สมาธิ ปัญญาที่เป็นของจริงล้วนๆ ไม่ใช่ของปลอม จะรู้จักจิตใจที่เป็นธรรมชาติแท้ๆ ไม่มีอะไรปะปน เป็นจิตใจที่ไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมัว ไม่มีธุลีใดๆ เจือปน เป็นจิตอันเกษม เป็นอุเบกขา ธรรมชาตินี้มีอยู่แล้วในคนทุกคน เราเพียงแต่ทำให้มันปรากฎขึ้นเท่านั้น หลวงพ่อเทียนไม่เคยสอนเรื่องทำสมาธิ ท่านสอนแต่เรื่องสติ - ความรู้สึกตัวมาตั้งแต่ท่านยังเป็นฆราวาสจนกระทั่งมรณภาพ (พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๓๑) ดังนั้น สิ่งที่ท่านเห็น รู้ เข้าใจ สิ่งที่ท่านเป็น ท่านมี จึงต่างจากอาจารย์คนอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์วิปัสสนาขั้นสุดท้ายที่ท่านพูดบ่อยๆ คือการได้พบสภาวะอาการเกิด - ดับ ขันธ์ ๕ ถูกทำลาย เพราะได้พบสิ่งนี้จึงมีการรู้แจ้ง และวัฏฏสงสารถูกตัดเพราะได้พบสิ่งนี้ กระบวนการทั้งหมดนี้สืบเนื่องมาจากการได้พบสภาวะอาการเกิด - ดับทั้งสิ้น หลวงพ่อเทียนจึงเห็นว่าสภาวะอาการเกิด - ดับนี้เป็นของสูง ไม่ควรเอาไปเปรียบเทียบกับเกิด - ดับอย่างสมมติที่คนทั่วไปพูดกัน หลวงพ่อเตือนว่า “อย่าเอาของสูงไปพูดเป็นของต่ำ อย่าเอาของต่ำไปพูดเป็นของสูง” หลวงพ่อเทียนพูดถึงสูตรสำเร็จของท่านว่า “ผมจิ(จะ)ว่าอันนี้ เพราะว่าสิ่งนี้บ่มีคนพูด สิ่งนี้บ่มีคนเว้า สิ่งนี้บ่มีคนสอน เฮาต้องสอนแบบนี้”

ธรรมะนี้เป็นสากล ไม่ใช่เป็นของผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นของทุกคน ใครทำใครก็รู้ เมื่อรู้แล้วใครจะเอาไปจากเราก็ไม่ได้ มันจะอยู่กับเราตลอดไป เด็กเล็กๆ อายุน้อยๆ ประมาณ ๘ - ๙ ปี ก็เริ่มปฏิบัติได้แล้ว เพราะเขาก็มีความรู้สึกตัวเหมือนกันกับผู้ใหญ่ ยิ่งอายุน้อยยิ่งดี เพราะเขาไม่ติดในอารมณ์ ความคิดปรุงแต่งไม่ค่อยมี ไม่ยึดติดในอดีต ไม่ค่อยคิดถึงอนาคต แค่บอกให้เขารู้สึกตัวในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เด็กๆ ก็จะทำได้ดีกว่าผู้ใหญ่ซึ่งมีความคิดและติดอารมณ์จากทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นการอยู่กับความคิดและเข้าไปในความคิดเสียส่วนใหญ่ ทำให้มีอุปสรรคในการปฏิบัติ ไปได้ช้ากว่าเด็ก แต่เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามวิธีของหลวงพ่อเทียนแล้ว ทุกคนจะรู้เหมือนกันทุกขั้นตอน จะเป็นเหมือนกัน เมื่อเป็นแล้ว ทุกคนจะพูดคำเดียวกันเลยว่า “อัศจรรย์!” เพราะไม่เคยคิดว่าในชีวิตนี้จะได้พบ ได้เห็น ได้เป็น เช่นนี้ มันคาดเดาเอาไม่ได้ จะรู้ล่วงหน้าไม่ได้ มันอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ มันต้องเป็นเอง จึงพูดว่ารู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง จะสิ้นสงสัยเรื่องชีวิตจิตใจ และจะไม่ถามใครเรื่องนี้อีกเลย