ถ้าทำถูกต้องแล้ว ไม่พลาดครับเรื่องนี้ รับรองได้จริงๆ รับรองจริงๆ ผมยอมเสียสละชีวิตทดแทนเอาคำพูดหรือสัจจธรรมอันนี้ เพื่อทำให้หลักพุทธศาสนา หรือคำสอนของพระพุทธเจ้าเจริญมั่นคงถาวรต่อไป
(หลวงพ่อเทียน 
จิตฺตสุโภ)

ทวนกระแสความคิด
ผู้รู้แจ้งเห็นจริง
มุมมองของหลวงพ่อเทียน
สติ - ความรู้สึกตัว
อาจารย์ผู้เดียวของข้าพเจ้า
พระคุณของหลวงพ่อ
หลวงพ่อเทียนและสิ่งที่ท่านมอบให้
วิปัสสนาจารย์
ทวนกระแสความคิด
อานิสงส์ของการเจริญสติ
สมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรมมฐาน
หนทางสู่นิพพาน
การปฏิบัติธรรมโดยไม่มีพิธีรีตอง
ต้นกำเนิดของความคิด
ทางลัดสู่การรู้แจ้ง

สติ-ความรู้สึกตัว

หลังจากบรรลุธรรม เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ จนกระทั่งมรณภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เป็นอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานเพียงรูปเดียวที่สอนเรื่องความรู้สึกตัว โดยท่านให้ทำการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เคลื่อนและหยุดด้วยความรู้สึกตัว และเมื่อมันคิดก็ต้องรู้ เห็นจิตใจตัวเองและเห็นความคิดด้วยจึงจะเรียกว่ามีสติรู้กาย - รู้ใจ

หลวงพ่อเทียนสอนว่า ความรู้สึกตัวนี่แหละคือมรรค (ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงการดับทุกข์) ดังนั้นการเจริญสติตามแนวหลวงพ่อเทียน คือการทำความรู้สึกตัว ให้ตื่นตัวอยู่เสมออย่างต่อเนื่อง คำว่า สติ ของหลวงพ่อเทียนหมายความว่ามีความรู้สึกตัวและรู้ เห็นจิตใจที่มันนึกมันคิด เมื่อมีสติ-ความรู้สึกตัวมากขึ้นๆ และต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ได้แล้ว ผลที่ตามมา คือ ใจจะเป็นสมาธิของมันเอง หลังจากนั้นผลพลอยได้ที่จะตามมา คือ ปัญญาจะเกิดขึ้นเอง ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจเรื่องชีวิตจิตใจ เราสงบเพราะการรู้แจ้งเห็นจริง นี่คืออานิสงส์ของความรู้สึกตัวที่มันทำงานของมันเอง มันส่งผลเอง เหมือนการปลูกต้นไม้ ถ้าเรารู้จักเลือกพันธุ์ไม้ที่ดีไปปลูก แล้วหมั่นดูแลรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย วันหนึ่งมันย่อมออกดอกออกผลให้เราได้เห็นอย่างแน่นอน

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราเลือกวิธีปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง หรือทำผิดวิธีและเทคนิคที่ครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอน เราก็ไม่สามารถ เห็น รู้ เข้าใจเหมือนอาจารย์ ในประเทศไทยมีการสอนกรรมฐานหลายวิธี หลายสำนัก มีอาจารย์กรรมฐานมากมายหลายท่าน ให้เลือกเอาว่าจะไปเรียนกับอาจารย์ท่านใด แต่เราต้องรู้จักเลือกและพิจารณาให้ดี โดยต้องเอาหลักธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง

เมื่ออุบาสกพันธ์ อินทผิวตัดสินใจไปบวชอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ ๒๕๐๓ ท่านเป็นที่รู้จักในนาม หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ท่านได้เริ่มเผยแผ่ธรรมะ และสอนวิธีเจริญสติแบบเคลื่อนไหวด้วยการทำความรู้สึกตัว โดยให้ฝึกยกมือสร้างจังหวะ ๑๕ ท่า เพื่อให้รู้จักความรู้สึกตัวและให้มีความต่อเนื่อง เมื่อรู้สึกตัวได้คล่องแคล่วดีแล้ว หลังจากนั้นจะทำด้วยวิธีใดก็ได้ เช่น เดิน นั่ง นอน กระดิกนิ้ว กระพริบตา คลึงนิ้วมือ ฯลฯ เพราะรู้จักความรู้สึกตัวดีแล้ว เราจะทำอะไร อยู่ในอิริยาบถใด เราก็จะรู้สึกตัว หลวงพ่อเทียนไม่ได้บังคับหรือมีรูปแบบตายตัวว่าจะต้องยกมือสร้างจังหวะอย่างเดียว

การยกมือสร้างจังหวะไม่ใช่เป็นรูปแบบของสมถกรรมฐาน เพราะการทำความรู้สึกตัวด้วยการยกมือ ไม่มีการเพ่ง หรือจ้อง หรือกำหนดจิตให้อยู่กับการเคลื่อนไหวของมือ หรือแม้แต่การเพ่ง การจ้อง การกำหนดที่ความรู้สึกก็ไม่มีแม้แต่น้อย มีแต่ความรู้สึกตัวล้วนๆ เท่านั้น ดังนั้นวิธีเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียนจึงไม่ใช่สมถกรรมฐานอย่างแน่นอน เพราะเป็นการเคลื่อนไหวซึ่งอยู่บนฐานของความรู้สึกตัวล้วนๆ ส่วนผู้ที่มาฝึกปฏิบัติวิธีนี้ บางคนก็อดไม่ได้ที่จะเพ่ง จ้อง หรือกำหนด ด้วยความที่เอาจริงเอาจังในการปฏิบัติและมีความตั้งใจมากเกินไป ทั้งๆ ที่หลวงพ่อเตือนแล้วเตือนอีก บางคนก็เคยชินกับการปฏิบัติสมถกรรมฐานมานาน คนกลุ่มนี้จะมีปัญหามาก เมื่อบอกให้ทำความรู้สึกตัวแบบแผ่วๆ อย่าเพ่ง อย่าจ้อง อย่ากำหนด หลายคนสารภาพว่าทำไม่ได้เพราะเคยเพ่ง เคยจ้อง เคยกำหนดอย่างหนักมาแล้ว พอต้องมาเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ ที่ต่างกันเหมือนหน้ามือกับหลังมือ นอกจากนั้นยังห้ามหลับตา ห้ามบริกรรมอีกด้วย ก็ยิ่งทำให้มีความยากลำบากในการทำความรู้สึกตัวมากทีเดียว

วิธีเจริญสติตามแนวหลวงพ่อเทียนเป็นการปฏิบัติที่ตรงกับสติปัฏฐาน ๔ อย่างครบถ้วน และไม่ยากเลยสำหรับผู้ที่เข้าใจวิธีและเทคนิคของหลวงพ่อเทียน บางคนเอาแต่สงสัยและวิเคราะห์ว่า อะไรคือความรู้สึกตัว? จะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นความรู้สึกตัวที่ถูกต้อง? ๒ ข้อนี้ คือสิ่งที่ดิฉันถูกถามเป็นประจำ จนถูกเรียกว่า คำถามยอดฮิต

คนที่ถามเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าเป็นคนช่างคิด ช่างสงสัย เข้าไปในความคิดจนสุดกู่ ความรู้สึกตัวเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้จัก แต่เพราะเราไม่เคยสนใจมัน เรามองข้ามมัน เราเลยไม่รู้จักมัน เราเคลื่อนไหวกายวันละประมาณ ๑๕ - ๑๖ ชั่วโมง แต่ไม่เคยมีความรู้สึกตัว จึงเกิดความสงสัย ไม่แน่ใจว่า อะไรคือความรู้สึกตัว เมื่อจับให้เคลื่อนไหว แล้วถามว่า “รู้สึกไหม?” ก็ได้รับคำตอบว่า “รู้สึก แต่ไม่รู้ว่าเป็นความรู้สึกตัวที่ถูกต้องในความหมายของอาจารย์หรือเปล่า” อย่างนี้ใครก็เฉลยให้ไม่ได้ ถ้าเจ้าตัวยังไม่รู้ว่าใช่ความรู้สึกตัวหรือเปล่า!
ดิฉันเคยสอนเด็กๆ อายุ ๘ - ๑๐ ปีหลายคนให้ทำความรู้สึกตัว เมื่อจับเด็กให้พลิกมือ ยกแขน แกว่งขา กระดิกเท้า แล้วถามเขาว่า “รู้สึกไหม?” เขาก็ตอบว่า “รู้สึก” ดิฉันก็บอกกับเขาว่า “นี่แหละความรู้สึกตัว” ไม่เคยมีเด็กแม้แต่คนเดียวสงสัยเรื่องความรู้สึกตัว อย่างนี้แสดงว่าเด็กฉลาดกว่าผู้ใหญ่หรือ? ไม่ใช่! แต่ผู้ใหญ่เป็นนักคิด (มาก) เสียจนมองข้ามธรรมชาติของตนเอง ถ้าเอาแต่คิด คิดและคิด จนวันตายก็จะไม่รู้จักความรู้สึกตัว ปล่อยใจให้ว่างและหยุดคิดเสียก่อน นั่นแหละจึงจะรู้จักความรู้สึกตัว

หลวงพ่อเทียนได้พยายามแนะนำสั่งสอนเรื่องสติ - ความรู้สึกตัวมาตลอดเวลา ๓๑ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๐ - ๒๕๓๑) แต่กว่าจะมีการยอมรับคำว่า สติ ของท่านในหมู่นักปฏิบัติธรรมก็กินเวลานานเกือบ ๒๐ ปี ระยะหลังจึงมีการพูดและสอนเรื่อง สติ อย่างแพร่หลาย เพราะว่าตรงกับที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องสติปัฏฐาน ๔

อย่างไรก็ตาม คำว่า สติ ในความหมายของหลวงพ่อเทียนก็ยังไม่เหมือนกับ สติ ของอาจารย์อื่นๆ เพราะ สติ ของหลวงพ่อเทียน หมายถึง ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย -ใจ แต่ สติ ของคนส่วนใหญ่และตามตำรา แปลว่า ระลึกรู้ ระลึกได้ ไม่เผลอ ส่วนการเจริญสติตามแนวหลวงพ่อเทียนเป็นการทำความรู้สึกตัว ให้รู้สึกตัวและให้รู้-เห็นจิตใจเมื่อมันนึกมันคิด

ปัจจุบันนี้ คำว่า ความรู้สึกตัว ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายโดยอาจารย์ที่สอนปฏิบัติธรรมในหลายสำนัก แต่ถ้าทำความรู้สึกตัวแล้วไปเพ่งหรือจ้องแม้เพียงนิดเดียว ก็จะแฉลบเข้าไปสู่เส้นทางสมถกรรมฐานทันที ถ้าผู้ใดสนใจปฏิบัติธรรมโดยการทำความรู้สึกตัว ขอให้ระวังเรื่องนี้ให้มากๆ ขอให้จำไว้ให้แม่นว่า หลวงพ่อเทียนให้รู้สึกเฉยๆ แผ่วๆ ไม่เพ่ง ไม่จ้อง ไม่กำหนด ถ้าทำถูกวิธีและเทคนิค จะเกิดปัญญาเข้าใจกฎของธรรมชาติตามความเป็นจริง และจะถึงที่สุดของทุกข์ได้อย่างแน่นอน

เป็นที่น่ายินดีที่ได้ทราบว่า ความรู้สึกตัว มีการพูดถึง และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในแวดวงอาจารย์สอนปฏิบัติธรรม แม้จะมีการสอนเรื่องนี้ช้าไปหน่อย แต่การให้ความสำคัญแก่ ความรู้สึกตัว มากขึ้น ทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมรู้ว่ายังมีวิธีอื่นนอกจากการนั่งหลับตา บริกรรม และทำความสงบ ซึ่งจะพบว่ามันต่างกันโดยสิ้นเชิง การทำความรู้สึกตัว (ตามวิธีและเทคนิคของหลวงพ่อเทียน) จะนำเราไปสู่จุดหมายด้วยตัวของมันเอง เพราะมันเป็นวิธีที่ถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ให้ต่อเนื่อง

การปฏิบัติธรรม คือ การทำความรู้จักชีวิตจิตใจของตัวเอง กายเป็น ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เป็นตัวทุกข์หยาบที่เห็นได้ด้วยตาว่ามันอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา บังคับไม่ได้ แต่ตัวทุกข์ละเอียดที่สุด คือ ความคิด คนอื่นมองไม่เห็น ไม่รู้ว่าเราคิดอะไร แม้แต่ตัวเราเองถ้าไม่มีสติ - ความรู้สึกตัว ก็ไม่สามารถรู้เท่า - รู้ทันความคิดของตัวเองได้ คนเราทุกข์เพราะความคิด มันปรุงแต่งได้ทั้งวันทั้งคืน แม้ขณะนอนหลับก็ยังคิด มันออกมาในรูปของความฝัน หลวงพ่อพูดว่า "สังขารขันธ์ล่องลอยไปไม่มีหยุด"

ในเมื่อมันคิดอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด และรู้ว่ามันทำให้ทุกข์ เราจึงต้องรู้จักมัน หาต้นเหตุและต้นกำเนิดของมันให้พบ ถ้าทำลายความคิดปรุงแต่งซึ่งเป็นต้นเหตุของทุกข์ไม่ได้ มันก็จะรบกวนเราไปตลอดชีวิต ถึงแม้เราจะเห็นและตัดความคิดได้บ้างแล้ว เพราะเรามีสติมากขึ้นๆ แต่มันก็ยังไม่สงบ ไม่ราบรื่นจริงๆ ยังลุ่มๆ ดอนๆ ยังไม่ใช่ความสงบที่ถาวร เพราะยังถอนรากถอนโคนมันไม่หมด มันยังมีโอกาสมารบกวนเราอยู่ ดังนั้นเราจึงต้องไปให้พบต้นกำเนิดของความคิด พบสภาวะอาการเกิด-ดับ ไปให้ถึงที่สุดของทุกข์ ก่อนที่จะหมดลมหายใจ จะได้มีความสว่างในจิตใจตลอดกาล พ้นไปจากความมืดและอวิชชา

การเจริญสติด้วยวิธีนี้ เพียงแค่เห็นความคิดแล้วมันหยุดทุกครั้ง ก็สบายใจแล้ว ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน พอมันคิดเราก็เข้าไปในความคิดทุกครั้ง เหมือนหลงเข้าไปในถ้ำมืดตื้อแล้วหาทางออกไม่ได้ บางคนติดอยู่ในถ้ำนั้นตลอดชีวิต หาทางออกไม่ได้ และไม่มีผู้ใดพาออกมาได้ เพราะไม่มีใครรู้ทางและไม่มีแสงสว่างในถ้ำนั้นเลย ส่วนคนที่โชคดี เมื่อหลงเข้าไปในถ้ำมืดแล้วได้พบกัลยาณมิตรที่มีคบไฟหรือไฟฉาย ก็จะพาเราออกจากถ้ำได้ จะพ้นจากความมืด และได้พบแสงสว่างในที่สุด

อาจารย์คือกัลยาณมิตรหรือผู้ชี้ทางให้เดิน เป็นบุคคลสำคัญที่สุดสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ถ้าเราได้ ผู้รู้จริง เป็นกัลยาณมิตร เป็นอาจารย์ ต้องถือว่าเราโชคดีอย่างที่สุด และถ้าท่านเอาใจใส่ คอยดูแล คอยช่วยเหลือในยามที่เรามีปัญหาในการเดินทางบนเส้นทางธรรมด้วยแล้ว ก็ต้องถือว่าเราได้อาจารย์ที่ประเสริฐ เราจึงควรตั้งใจปฏิบัติและมีความเพียรให้มาก ให้สมกับที่อาจารย์ให้ความเมตตากรุณา ท่านอยากเห็นเราพ้นไปจากความมืด ถ้าเราไม่ช่วยตัวเอง ใครก็ช่วยทำไม่ได้ ต่อให้ได้รับคำแนะนำสั่งสอนจากพระอรหันต์เป็นหมื่นเป็นแสนองค์ แต่ถ้าเราไม่ทำเอง ไม่มีความตั้งใจ ไม่มีความเพียร เราก็จะไม่มีวันรู้

นอกจากเป็นผู้รู้แจ้งรู้จริงแล้ว หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ยังเป็นอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ด้วยจิตวิญญาณที่ลูกศิษย์ทุกคนเห็นได้ชัดเจน เราไม่เคยสนใจว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลขั้นไหน เพราะนั่นเป็นเพียง สมมติ เท่านั้น เมื่อเราปฏิบัติแล้วเกิดปัญญา เข้าใจธรรมะได้อย่างที่หลวงพ่อเคยพูดให้ฟัง จะทำให้เรามีความศรัทธาและเชื่อมั่นในหลวงพ่อมากขึ้น ยิ่งมีปัญญาลึกเข้าๆ เท่าใด ก็จะเข้าใจธรรมะลึกซึ้งขึ้นอีกเท่านั้น เราก็จะยิ่งมีความศรัทธาและเชื่อมั่นในหลวงพ่อมากขึ้นๆ ไม่มีความสงสัยในธรรมะและวิธีปฏิบัติของท่านเลย หลวงพ่อทำให้เราเห็น รู้ เข้าใจได้ตามที่ท่านยืนยันและรับรองด้วยการเอาชีวิตของท่านเป็นเดิมพัน เมื่อเราปฏิบัติแล้วได้ผล เราจึงมั่นใจในความเป็น ผู้รู้แจ้งรู้จริง ที่น่าอัศจรรย์ของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ