ต้นกำเนิดของความคิด

หลวงพ่อกล่าวว่า ความคิด(ปรุงแต่ง) เป็นตัวทุกข์ โทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทาน ล้วนปรากฎขึ้นในรูปของความคิดทั้งสิ้น ดังนั้น เราจึงควรรู้จักและเข้าใจว่ามันเป็นอย่างไรจึงออกมาในรูปของความคิด การปฏิบัติจึงต้องทวนจากปลายเหตุไปหาต้นเหตุ คือการดูความคิดให้รู้จักมัน ให้เห็นมัน แล้วทวนกระแสความคิดไปจนถึงต้นกำเนิดของมัน และสามารถทำลายการปรุงแต่งได้ ด้วยการมีสติ ปัญญาที่ว่องไว ไม่ใช่ด้วยการคุม การข่ม การจ้องมัน แบบสมถกรรมฐาน

เราต้องรู้จักธรรมชาติของจิตใจที่เป็นปกติ เฉยๆ สะอาด สงบ ไม่มีอะไรปกคลุม ไม่มีโมหะ อวิชชา กิเลส ตัณหา เราจะเห็นว่าธรรมชาติของใจที่ไม่เป็นทุกข์นั้นเป็นอย่างไร เวทนาไม่สุขไม่ทุกข์ (อุเบกขาเวทนา) เป็นอย่างไร อุเบกขาแท้ๆ เป็นอย่างไร (ถ้าไม่พบมรรคผลนิพพานก็จะไม่มีอุเบกขาที่แท้จริง) มันต่างกับอุเบกขาที่ต้องใช้ความพยายามอย่างไร

ส่วนเรื่อง กาย – ใจ ที่ยังมีคนเข้าใจว่า ทั้งกายและใจเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา แสดงว่าเข้าใจเพียงครึ่งเดียว

กาย เป็นทุกขัง (อยู่นิ่งไม่ได้ ทนไม่ไหว) อนิจจัง (ไม่เที่ยง ต้องมีการเปลี่ยนแปลง) อนัตตา (บังคับไม่ได้ มันต้องเป็นเช่นนั้นตามธรรมชาติ)

ใจ ยังมีคนเข้าใจผิดว่าใจเป็นตัวทุกข์ เป็นไตรลักษณ์ เพราะเห็นว่าอะไรๆ ก็มาจากใจ รู้สึกที่ใจ ไม่ว่าจะเป็นความสับสน ฟุ้งซ่าน เสียใจ ความโกรธ ความโลภ ความหลง ฯลฯ เขาจึงเข้าใจผิดว่าใจเป็นตัวทุกข์ เพราะเขาไม่เคยปฏิบัติให้เห็น รู้ เข้าใจ สัมผัสกับจิตใจที่แท้จริง ยังเข้าไม่ถึงใจจริงๆ เขารู้จักแต่โมหะและสิ่งที่ปกคลุมจิตใจอยู่ชั่วขณะ เขายังไม่รู้จักกระบวนการของความคิดที่เป็นต้นเหตุของทุกข์ จึงเอาความคิดมาปนกับจิตใจ ถ้ารู้และเข้าใจอารมณ์รูป - นามก็จะเห็น รู้ได้อย่างชัดเจนว่าความคิดคือตัวทุกข์ จิตใจไม่ใช่ตัวทุกข์

ในเมื่อความคิดเป็นตัวทุกข์ หลวงพ่อจึงให้จัดการกับตัวนี้ ให้รู้จักมัน ให้รู้เท่า รู้ทันมัน เอาชนะมันให้ได้ ท่านให้ดูความคิดเพื่อให้เห็นมัน ไม่ใช่คอยจ้อง คอยคุม ไม่ให้มันคิด อย่างนั้นเป็นการข่ม อย่างนั้นผิดธรรมชาติ เป็นการปฏิบัติสมถกรรมฐาน ไม่ใช่วิปัสสนากรรรมฐาน เราปฏิบัติธรรมเพื่อจะได้รู้จักและเข้าใจเรื่องของชีวิตจิตใจ ถ้าจะต้องคอยข่ม คอยคุมความคิดจิตใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้มันปรุงแต่ง ไม่ให้มันคิด ก็จะต้องคอยคุม คอยข่มกันตลอดชีวิต มันก็ไม่เป็นธรรมชาติ งานปฏิบัติธรรมจะไม่มีวันจบสิ้น เพราะไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เกิดปัญญา ไม่พบทางหลุดพ้น

วิธีจัดการกับความคิดปรุงแต่งมีวิธีเดียวเท่านั้น คือ ต้องมีสติ - ความรู้สึกตัว จึงจะเห็นความคิดได้ หลวงพ่อจึงบอกให้เจริญสติมากๆ ให้ต่อเนื่องเหมือนลูกโซ่ เปรียบเสมือนเลี้ยงแมวให้อ้วนจะได้มีแรงจับหนู ถ้าสติช้ากว่าความคิด ก็ไม่มีวันรู้ทันความคิด สติต้องพร้อมเสมอ ไม่ใช่ปล่อยให้อารมณ์หรือความคิดเกิดเสียก่อนแล้วสติจึงจะมา อย่างนั้นผิด อย่างนั้นไม่ทันการณ์ ถ้าเป็นอย่างนั้นแสดงว่าสติยังอ่อนแอ เชื่องช้า จึงไม่ทันอารมณ์หรือความคิด ถ้าปล่อยให้มันคิดจนมันเหนื่อย แล้วเดี๋ยวมันก็จะหยุดเอง แสดงว่าสติจัดการกับความคิดไม่ได้ เพราะเป็นสติที่ไม่มีคุณภาพ ความคิดมันหยุดเพราะมันเหนื่อย มันหมดแรงเอง ถ้าเป็นสติที่แท้จริง ต้องมีคุณภาพ ต้องตัดความคิดได้ หยุดความคิดได้ทันทีที่เห็นมัน มันจะไม่มีแรงคิดต่อ มันสู้สติที่สมบูรณ์ว่องไวไม่ได้ ความคิดจะลดน้อยลงหรือสั้นลง จนเมื่อใดสติ - ปัญญาว่องไวเท่าความคิด มันจะทันกันที่ต้นกำเนิดของความคิดเลย และทำลายการปรุงแต่งได้

อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องมีสติต่อเนื่องก็เพื่อให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย - ใจตลอดเวลา เมื่อเป็นมหาสติเมื่อใด สมาธิก็จะเป็นเองบนฐานของมหาสติ นี่คือสมาธิที่แท้จริง (ไม่ใช่ไปทำสมาธิ) เมื่อจิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ปัญญาจะเกิดขึ้นในสมาธินั้น เป็นปัญญาที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่มาจากการพิจารณาใดๆ ทั้งสิ้น เราสามารถยืนยันได้ว่าธรรมะแท้ย่อมรู้อย่างเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น เด็กอายุ ๘ หรือ ๙ ปี ที่มีปัญญาเห็น รู้ เข้าใจธรรมเหมือนกับผู้ใหญ่และพูดกันรู้เรื่อง เด็กอายุแค่นั้นพิจารณาเรื่องลึกซึ้งไม่เป็นแน่นอน และไม่มีความสามารถจะไปอ่าน หรือไปท่องจำตำราเพื่อเอามาพูด มาคุยกับผู้ใหญ่อีกด้วย นอกจากนั้นความรู้จากตำราก็ไม่เหมือนกับประสบการณ์จากการปฏิบัติ เราสามารถพิสูจน์ได้ว่าเด็กพูดตามความเป็นจริงที่เขาเห็น รู้ เข้าใจด้วยปัญญา แต่เขาอาจจะใช้ภาษาของเด็ก ไม่ใช่ภาษาที่ผู้ใหญ่ใช้กัน

สติ สมาธิ ปัญญา มันมาด้วยกัน

ปัญญาที่แท้จริงเกิดจากสมาธิที่ตั้งมั่นอยู่บนฐานของสติ - ความรู้สึกตัว ไม่ใช่ต้องรักษาศีลก่อน แล้วจึงไปทำสมาธิ ไปปฏิบัติสมถกรรมฐาน แล้วก็ไปพิจารณาเอา นั่นเป็นความคิดไม่ใช่ปัญญา

การปฎิบัติธรรมเพื่อให้รู้แจ้งรู้จริง ต้องเข้าถึงจุดสำคัญของมันจริงๆ ต้องดับการปรุงแต่งได้ ต้องเห็นและสัมผัสสภาวะที่เป็นปรมัตถ์ได้ด้วยญาณปัญญา จึงจะทำลายโทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทาน ได้เป็นขั้นๆ ไป จนถึงขั้นทำลายอวิชชาได้ แต่ถ้าจำมาจากตำรา หรือจำความรู้ของคนอื่นมาพูด มาคุยอวดอ้าง มันจะจับต้นชนปลายไม่ถูก และถึงแม้คนฟังอาจไม่รู้ทันว่านี่ไม่ใช่ผู้รู้จริง แต่ตัวเองย่อมรู้ตัวดีว่าตัวเองรู้จริงหรือไม่ จัดการกับความทุกข์ของตัวเองได้หรือไม่ เข้าตำราที่ว่า หลอกคนอื่นได้แต่หลอกตัวเองไม่ได้

หลวงพ่อบอกว่าคนที่จะไปสอนผู้อื่น ต้องปฏิบัติให้ตัวเองรู้จริงเสียก่อน จึงจะไปสอนผู้อื่นได้ ถ้าคนไม่รู้จริงไปสอน คนที่มาเรียนด้วยก็จะไม่รู้ การพูดธรรมะต้องพูดให้ถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ผิดไม่ได้ ต้องรู้วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง อย่านำทางผิด เพราะจะพาผู้อื่นไปเข้ารกเข้าพง ออกนอกลู่นอกทาง ทำให้เขาเสียเวลา ถ้าอาจารย์รู้เส้นทางดีก็จะพาลูกศิษย์ไปถูกทาง ไม่เสียเวลา จะเตือนลูกศิษย์ได้ถ้าเขาออกนอกลู่นอกทาง ต้องรู้จักอุปสรรคของปีติ วิปัสสนู จินตญาณ และวิปลาส ถ้าจะเป็นอาจารย์ต้องรู้จักการแก้อารมณ์เรื่องพวกนี้ด้วย

ถ้าเป็นปัญญาของจริง มันต้องเกิดเอง จึงจะพูดได้ว่าเห็นเอง รู้เอง เข้าใจเอง เมื่อปัญญาเกิดขึ้น จิตใจเราก็จะเปลี่ยนเป็นครั้งๆ ไป จิตใจจะเปลี่ยนครั้งสุดท้ายเมื่อขันธ์ ๕ ถูกทำลาย ก็เป็นอันว่าจบทุกอย่างแล้ว หลวงพ่อบอกว่าเมื่อท่านไปเจริญสติ ท่านเกิดปัญญารอบรู้ ท่านเข้าใจอย่างที่ท่านเอามาพูดให้พวกเราฟัง ท่านไม่ได้อวดดี อวดรู้ แต่เพราะมีดีจึงเอามาพูดให้ฟังคนอื่นจะได้รู้เหมือนกัน คนมีดีจึงต่างกับคนอวดดี ถ้าเรายังไม่เข้าใจปรมัตถธรรมแล้วไปพบคนอวดดี อวดรู้ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ผู้รู้จริง เราก็จะถูกหลอกให้หลงเชื่อ หลวงพ่อจึงบอกไม่ให้เชื่อใครง่ายๆ ต้องทดลองปฏิบัติ จะได้รู้เอง จะได้เชื่อตัวเอง จะได้ไม่ถูกเขาหลอก การอ่านจากตำราก็เป็นเรื่องหนึ่ง การรู้เองจากประสบการณ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราไม่ต้องไปสนใจเรื่องที่คนพูดกันว่าพระภิกษุรูปนั้นเป็นพระโสดาบัน รูปนี้เป็นพระสกทาคามี รูปนั้นเป็นพระอนาคามี รูปนี้เป็นพระอรหันต์ มันไม่ใช่เรื่องของเรา ใครจะบรรลุธรรมเป็นอะไร มีเพียงพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าใครเป็นอะไร ไม่ใช่หน้าที่ของพวกเรา เรามีหน้าที่ปฏิบัติให้รู้เอง เห็นเอง ให้รู้แจ้ง เห็นจริง เมื่อรู้แล้วไม่ทุกข์ก็พอแล้ว