หนทางสู่นิพพาน

มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมตัวทุกข์ รูปเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา แต่คนเราไม่รู้จักทุกข์จึงไปอยู่กับมัน และพยายามแสวงหาความสุขในรูปต่างๆ ทั้งๆ ที่แท้จริงสิ่งเหล่านั้นคือทุกข์ เพราะความสุขที่แท้จริงมันไม่มี มีแต่ทุกข์หรือไม่ทุกข์เท่านั้น เมื่อคนไม่รู้จักทุกข์ จึงไม่แสวงหาวิธีออกจากทุกข์ หรือหาทางให้พ้นทุกข์

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ ได้ทรงสอนเรื่องอริยสัจจ์ ๔ แก่เพื่อนมนุษย์ ทรงสั่งสอนแนะนำให้เจริญสติปัฏฐาน ๔ คือกายานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การปฏิบัติกรรมฐานด้วยการมีสติรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกาย -ใจ คือให้มีสติรู้สึกตัว ให้รู้การเคลื่อนไหวของกายในทุกลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถใด (ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว ฯลฯ) และให้เห็นการเคลื่อนไหวและการทำงานของจิตใจ ทุกครั้งที่ใจมันนึก มันคิด รู้สึกพอใจ ไม่พอใจ เกิดทุกขเวทนา สุขเวทนา ฯลฯ ซึ่งในตำราบอกไว้ว่า ผู้ใดเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างถูกต้องให้ติดต่อกันเป็นลูกโซ่ อย่างนาน ๗ ปี อย่างกลาง ๗ เดือน อย่างเร็วที่สุด ๑ วัน ถึง ๗ วัน หรือ ๑๕ วัน จะได้เป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ ถ้าไม่ได้เป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ อย่างน้อยก็จะเป็นพระอนาคามีในชาตินี้

แต่ในกรณีเช่นนี้หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ให้คำรับรองและยืนยันว่าถ้าเจริญสติให้ถูกต้องตามวิธีของท่านอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ทุกคนจะรู้ เห็น เข้าใจธรรมชาติของจิตใจ และความทุกข์จะลดลงได้ในเวลา อย่างเร็วนับตั้งแต่ ๑ - ๙๐ วัน อย่างกลาง ๑ ปี อย่างนานที่สุดไม่เกิน ๓ ปี แสดงให้เห็นว่าทั้งในตำรา และคำยืนยันของหลวงพ่อเทียน ผู้เป็นปรมาจารย์แห่งการเจริญสติ ว่าทุกคนสามารถปฏิบัติได้ รู้ได้ เห็นได้ เข้าใจได้ ธรรมะไม่ได้สงวนไว้สำหรับผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ไม่ได้สงวนไว้สำหรับพระสงฆ์ หรือนักบวชเท่านั้น จึงจะรู้ธรรมได้ ความจริงแล้วใครปฏิบัติ ผู้นั้นก็รู้ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ หรือฆราวาส ผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ เชื้อชาติใดก็ปฏิบัติได้ เพราะคนเรามีกายกับใจ การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติใจ อานิสงส์ที่จะได้รับจากการปฏิบัติการเจริญสติคือ การรู้จักตนเอง เห็นตนเอง เข้าใจตนเอง รู้เท่าทันจิตใจของตนเอง ความคิดของตนเอง; ความหลงผิด การยึดมั่นถือมั่น กิเลสและความไม่รู้จะถูกทำลายจางคลายไป หรือหมดไปได้ และที่สำคัญคือมันจะไม่ทุกข์ หรือถ้าทุกข์ก็น้อยมาก

หลวงพ่อเทียน พูดให้ผู้เข้าฟังการบรรยายธรรมของท่านฟังบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติให้ถึงที่สุดของทุกข์ หรือบางครั้งท่านจะใช้คำว่า เชือกขาด ซึ่งลูกศิษย์ที่ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อจะเข้าใจความหมายของคำว่า เชือกขาด ของท่านดีว่าหมายถึงการปรุงแต่งถูกทำลาย ถึงที่สุดของทุกข์เพราะเห็นต้นกำเนิดของความคิด ความคิดไวเท่าไร สติก็ไวเท่านั้น เมื่อความคิดกับสติไวเท่ากัน และเกิดการประจันหน้ากัน จะทำให้สภาวะที่มีอยู่แล้วในคนทุกคนแตกออก สภาวะแห่งการรู้แจ้ง จะปรากฎขึ้น จะได้พบความสงบที่แท้จริง หลวงพ่อเทียนเรียกสภาวธรรมนั้นว่า นิพพาน

การปฏิบัติกรรมฐานด้วยวิธีเจริญสติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ได้พิสูจน์ว่าเมื่อปฏิบัติแล้ว จะรู้ เห็น เข้าใจธรรม เป็นขั้นตอนตามลำดับเหมือนกันทุกคนดังนี้คือ

๑. ปฐมฌาน

ความหลงผิดถูกทำลาย เมื่อรู้ เห็น เข้าใจ เรื่องโทสะ โมหะ โลภะ; เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

๒. ทุติยฌาน

ความยึดมั่นถือมั่นถูกทำลาย เมื่อรู้ เห็น เข้าใจ เรื่อง กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม

๓. ตติยฌาน

ศีลปรากฏขึ้นในจิตใจ เมื่อเข้าใจเรื่องศีล ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ในรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ มีศีล

๔. จตุตถฌาน

อาสวะถูกทำลายจางคลายไป เมื่อรู้ เห็น เข้าใจ เรื่องอาสวะ: กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ

๕. ปัญจมฌาน

ได้พบสภาวะอาการเกิด - ดับของจิตใจ ขันธ์ ๕ ถูกทำลาย เกิดการรู้แจ้งในสัจจธรรม

หลวงพ่อเทียนอธิบายความหมายของนิพพานว่า คือ การหยุดไปตามกระแสของกิเลส, ความสงบ, ความปกติ, ความเย็นอกเย็นใจ

การหยุดไปตามกระแสของกิเลส คือการเห็นความคิด ไม่ไปตามความคิด หรือทวนกระแสความคิดได้ โมหะ (ความหลง) จึงไม่มี, โทสะ โลภะ จึงไม่มี, กิเลส ตัณหา อุปาทาน จึงไม่มี

ความสงบ คือใจสงบ เป็นปกติ นิ่ง ไม่วอกแวก ไม่หวั่นไหว อยู่เหนือสุข เหนือทุกข์ เหนือความคิด มีปัญญารอบรู้ สงบจากความไม่รู้ เพราะ เห็น รู้ เข้าใจชีวิตจิตใจของตนเอง เชื่อมั่นในความรู้แจ้งของตนเอง สิ้นความสงสัยเรื่องชีวิตจิตใจ หยุดแสวงหาครูบาอาจารย์

ความปกติ คือจิตใจว่างจาก โทสะ โมหะ โลภะ; กิเลส ตัณหา อุปาทาน ศีลจึงปรากฏขึ้นในใจ โดยไม่ต้องรักษาศีล มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โดยธรรมชาติ ไม่ต้องใช้ความพยายามหรือเสแสร้งให้มันเป็น เพราะมันเป็นเอง

ความเย็นอกเย็นใจ คือหมดความร้อนในจิตใจ เพราะไฟกิเลสถูกดับไปแล้ว อวิชชาถูกทำลายไปแล้ว

ความปกติมีอยู่แล้วในคนทุกคน นิพพานก็มีอยู่แล้วในคนทุกคน เพียงแต่เราจะทำให้มันปรากฏขึ้นมาให้เราได้พบเองหรือไม่เท่านั้น ถ้าพุทธศาสนิกชนคนใดคิดว่านิพพานไม่มีในชาตินี้หรือเป็นไปได้ยากที่จะเข้าถึงได้แสดงว่าไม่เชื่อพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงเทศนาสั่งสอนด้วยพระองค์เอง จนมีผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้มีพระอรหันต์สาวกเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลเป็นจำนวนมาก พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีอยู่คู่โลกนี้ตลอดไป ถ้าผู้ใดปฏิบัติถูกวิธี ผู้นั้นย่อมรู้ เห็น เข้าใจธรรมได้ ถ้าปฏิบัติผิดหรือแตกต่างไป ก็จะรู้ เข้าใจ แตกต่างกัน หรือเข้าใจไม่เหมือนกัน แต่ ธรรมะแท้ย่อมรู้อย่างเดียวกัน แม้ว่า เชื้อชาติ เพศ วัย ต่างกัน แต่จะเข้าใจธรรมะอย่างเดียวกัน

คนส่วนใหญ่สนใจเรื่องไหว้พระ ทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล มากกว่าสนใจเรื่องการปฏิบัติธรรม เพื่อให้รู้จักตนเอง เห็นจิตใจตนเอง รู้จักเรื่องชีวิตจิตใจของตนเอง เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง จะมีคนส่วนน้อยผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะสนใจเรื่องชีวิตจิตใจ เรื่องสัจจธรรม จะหาวิธีปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจริงๆ เพราะมันคือแก่นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่คนส่วนมากยังมีความเชื่อในลัทธิโบราณ (ก่อนพุทธศาสนา) เช่นเข้าใจว่า ทำบุญมากๆ แล้วจะได้ไปสวรรค์ หรือทำบุญแล้วจะมีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าบุญคืออะไร บางคนเรียกตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ยังทำพิธีเซ่นไหว้ บูชาเทพยดา สิ่งศักดิ์สิทธ์ เครื่องลาง ของขลัง ฯลฯ ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้งมงายกับเรื่องเหล่านี้ เพราะมันไม่ใช่ทางดับทุกข์ แต่คนส่วนมากก็ยังยึดมั่นกับสิ่งเหล่านี้ควบคู่ไปกับการทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล จึงมีผู้รู้ธรรมน้อยลงๆ ขณะที่ปัจจุบันนี้มนุษย์ฉลาดขึ้น คนฉลาดมีมาก แต่คนมีปัญญามีไม่มาก หลวงพ่อเทียนบอกว่า “จะหลุดพ้นได้ด้วยปัญญา ไม่ใช่ความฉลาดหรือจากการคิดพิจารณา”

มนุษย์ปุถุชนธรรมดา มีแต่กิเลสครอบงำจิตใจ และไม่หยุดแสวงหาลาภ ยศ เงินทอง ชื่อเสียง เพื่อสนองกิเลส ตัณหาของตัวเอง หลวงพ่อเทียนบอกว่า “พระพุทธเจ้าต้องการฆ่าคนให้หมด ให้เหลือแต่พระเท่านั้น” บางคนได้ยินเช่นนี้อาจคิดว่าพระพุทธเจ้าไม่มีเมตตา แต่ความจริงคำว่า คน ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ปุถุชน ส่วนคำว่า พระ หมายถึงผู้ที่มีลักษณะรูปร่างเป็นคน แต่มีจิตใจเป็น พระ

บางคนเข้าใจว่า นิพพาน จะได้เมื่อตายแล้ว พยายามทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล ด้วยหวังว่าเมื่อตายแล้วจะได้นิพพาน แต่เมื่อบอกให้รีบตายเสีย จะได้พบนิพพานเร็วๆ ก็ไม่มีใครอยากตาย เพราะไม่รู้ว่านิพพานคืออะไร เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน จึงเข้าใจผิดว่าจะพบนิพพานเมื่อตายแล้ว

การเจริญสติ การปฏิบัติวิปัสสนา เป็นการปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญา หลุดพ้นจากกิเลส ความมืด ความไม่รู้ เพื่อให้มีจิตใจเป็นปกติ สงบแบบผู้รู้ อยู่บนทางสายกลาง ด้วยใจที่เป็นอุเบกขา ต่างเก่าล่วงภาวะเดิม อยู่เหนือทุกข์ เหนือสุข แต่เราจะต้องปฏิบัติธรรมด้วยการรู้ตัวเอง เห็นตัวเอง ทั้งกาย - ใจ อยู่ตลอดเวลา ไปให้ถึงที่สุดของทุกข์ให้ได้ในชีวิตนี้ก่อนจะตาย เราจึงจะพ้นทุกข์ได้ เป็นการพ้นทุกข์ทางใจ ถ้าอยากพ้นทุกข์ทางใจ ต้องปฏิบัติที่ใจ เมื่อใจมันหลุดพ้นแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นก็หมดไป ไม่ยึดแม้แต่ร่างกายของตัวเอง แต่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป และยังมี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ไม่เป็นทุกข์ จิตใจว่าง สงบ สามารถทำการทำงานตามหน้าที่ อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับสติ - ปัญญา อยู่บนทางสายกลาง ด้วยใจที่เป็นอุเบกขา