โลกียธรรม - โลกุตตรธรรม

วันนี้ก็พูดให้เข้าใจ คือฟังแล้วต้องเข้าใจ พูดให้เข้าใจ ฟังให้เข้าใจ คนที่พูดให้เข้าใจ คนที่ฟังไม่เข้าใจก็ได้ผลน้อยหรือมันไม่ได้ผลเลย อย่างที่คนไทยเราถือศาสนาพุทธมานี่หลายร้อยปีแล้ว การกระทำนั้นบางคนก็ดูมันยังมีความทุกข์อยู่มาก ศาสนาพุทธนี่ใครเข้าใจแล้วไม่มีทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนแต่เรื่องทุกข์เท่านั้น แต่คนนั้นฟังไม่เข้าใจเท่านั้น คือเมื่อไม่เข้าใจแล้วไปปฏิบัติมันก็ผิดไป

ในประเทศอินเดียมีหลายลัทธิหลายนิกาย ครูบาอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่ามีร้อยแปดลัทธิ ร้อยแปดอาจารย์ ร้อยแปดศาสนา แต่สอนไม่เหมือนกัน เมืองไทยเราก็เช่นเดียวกันมีครูบาอาจารย์หลายคนสอนกรรมฐาน สอนวิปัสสนา สอนให้ทาน สอนรักษาศีล ไม่เหมือนกัน เราต้องเลือกคัดจัดหาเอาไปใช้ให้เหมาะสมกับตัวเรา เรามันเป็นคน ไม่ใช่เป็นสัตว์ ถ้าเป็นคนต้องรู้จักเลือกคัดจัดหาเอาได้ เรียกว่าคน ถ้าหากว่ายังไม่ใช่คน เลือกไม่ได้ แต่ว่าเกิดมาแล้วแข้งขาหน้าตามือเท้าเป็นคนแต่ใจยังไม่ใช่คน เพราะมันเลือกยังไม่ได้ เลือกคัดจัดหาเอายังไม่เป็น จะเป็นคนได้อย่างไร ของมันผสมกันอยู่มาก บัดนี้ คนต้องไปเลือกเอาได้เป็นชิ้นเป็นอัน อันนี้วางไว้อย่างนั้น อันนั้นวางไว้อย่างนั้น เรียกว่าคน ถ้าหากเรายังไปเลือกคัดจัดหาอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ใช่คน นี่พูดให้ฟัง ความจริงเป็นอย่างนั้น หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น

ทีแรกหลวงพ่อไม่รู้ว่าศาสนาพุทธนี่ต้องมีวัด มีพระพุทธรูป มีพระสงฆ์ ได้ไปให้ทานรักษาศีล ว่าตัวเองได้เข้าใจหลักพระพุทธศาสนา เข้าใจอย่างนั้น แต่ความจริงอันนี้มันเป็นศีลธรรม มันเป็นวัฎฎะ ที่ว่าโลกียธรรม โลกุตตรธรรม หลวงพ่อไม่รู้ แต่ก่อน แล้วก็นรกสวรรค์ก็ไม่รู้ นรกนึกว่ามันอยู่ใต้ดิน สวรรค์นึกว่าอยู่บนฟ้า เข้าใจอย่างนั้น อันนั้นไม่ใช่คนนะน่ะ เป็นคนแต่ยังเลือกไม่ได้ ไม่ใช่คน แม้จะเป็นพระสงฆ์องค์เจ้าถ้ายังเลือกไม่ได้ ไม่ใช่คน มันไม่มีความละอายในใจ แล้วมันจะเป็นคนได้อย่างไร คนมันต้องมีความละอายในใจแล้ว คือละอายต่อสิ่งที่ไม่สมควร เรียกว่าคน ถ้าหากยังไม่มีความละอาย ไม่ใช่คน แต่แข้งขาหน้าตามือเท้าเป็นคน ให้เข้าใจอย่างนั้น

นรก สวรรค์ นรกคือความทุกข์นั้นเอง คนใดมีทุกข์เป็นคนอยู่นี่ไม่ใช่คน เป็นสัตว์นรก เข้าใจกันใกล้ๆ ที่หลวงพ่อพูดนี่ ในขณะที่เราไม่มีทุกข์เราได้ขึ้นสวรรค์แล้ว แต่ยังไม่ใช่คนนะ เพราะเรายังไม่รู้สวรรค์ นั้นไม่ใช่คน ยังเป็นสัตว์อยู่ คำว่าคนนั้นต้องรู้จักว่า อ้อ..นี่เป็นสวรรค์ นี่เป็นนรก เราหลีกนรกได้ เราต้องการสวรรค์ เราต้องไปอยู่เมืองสวรรค์แล้ว แต่ยังไม่ได้เป็นโลกุตตรธรรมเขาว่าสวรรค์เป็นโลกียธรรมแต่คนอยู่ได้ แต่คนรู้จักว่าไม่ใช่สัตว์แล้วนะเป็นคนแล้ว แต่เดี๋ยวนี้คนไทยถือศาสนาพุทธไม่ค่อยเข้าใจกันอย่างนี้ หลวงพ่อเองก็ไม่เข้าใจ แต่ก่อนไม่เข้าใจ มีแต่เอาบุญ บุญคืออะไร อยู่ที่ไหน ใครเอาให้ไม่ได้เลย คนเรานี่มีบุญแล้วที่เกิดมาเป็นคนแล้ว แต่เราทำไมจึงไม่รู้จักว่าบุญ เมื่อไม่รู้บุญจะเอาบุญได้ไหม ไม่ได้ เราไม่รู้จักนรก จะหลีกนรกไปได้ไหม ไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น เมื่อเราไม่รู้สัตว์จะหลีกสัตว์ได้ไหม ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าสัตว์เดรัจฉานโดยเฉพาะ อันคนนี่ก็เป็นสัตว์เหมือนกัน แต่จิตใจมันเป็นสัตว์ จึงว่าคนใดมีตาทิพย์ต้องเห็นอันนี้ คนใดไม่มีตาทิพย์ไม่เห็น ตาทิพย์ เขาเรียกว่าตาปัญญา

ดังนั้น การทำบุญก็ดี การให้ทานก็ดี การรักษาศีลก็ดี ทำเพื่อให้เกิดปัญญา พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องปัญญา สอนให้คนที่กำลังทำความผิดอยู่ ให้เขาทำให้ถูกต้อง สอนคนที่กำลังโง่อยู่นั้นแหละ ให้เขาฉลาดขึ้นมา สอนคนที่ยังมีทุกข์นั่นแหละ ให้ทุกข์นั้นหมดไป ท่านว่าอย่างนั้น จึงจะเป็นคนได้ ถ้าตัวเองยังโง่อยู่แล้วอวดว่าฉลาดนั้น ไม่ใช่คนแล้ว เขาว่าอวดดี คนอวดดีกับคนมีดีเอามาพูด มันไม่เหมือนกัน อวดดี เราเคยได้ยินไหม อย่าอวดดีนะ เคยได้ยินบ้างไหม อวดดีนี่ไม่มีราคาเลย คนมีดีเอามาพูดท่านจึงพูดอย่างนั้น คนมีตาทิพย์ ไม่ใช่ตาทิพย์นั่งอยู่ที่นี่มองเห็นไกลๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ตาทิพย์มองดูคน เออ...ลักษณะคนโกรธขึ้นมานั้น ร่างกายเป็นคน ใจเป็นสัตว์ แล้วมองเห็นตัวเรา และใจคนนั้นก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าจึงว่า สัตว์ทั้งหลายคือเราตถาคต สัตว์ทั้งหลายเหมือนเราตถาคต สัตว์ทั้งหลาย เราผู้เป็นตถาคตไปถึงแล้วแห่งนั้น แล้วจึงนำมาสอนพวกเธอทั้งหลาย ให้พวกเธอทั้งหลายจงประพฤติปฏิบัติตามอย่างเราตถาคต นี่แหละที่ท่านสอนแต่เราไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจ ก็ทำไม่ถูกต้องสิ ก็เดือดร้อนสิ เราก็ไปหาเอาบุญ หาบุญมันได้ทุกข์มา

ดังนั้น พระพุทธเจ้าสอนให้เราทำ อย่างตัวเรานี่ ว่างๆ แต่ทำได้ ทำบุญ บุญนั้นมันเป็นโลกียธรรม ไม่ใช่เป็น โลกุตตรธรรม ให้เข้าใจอย่างนั้น โลกียธรรมกับโลกุตตรธรรมไม่เหมือนกัน เราดีใจเรียกว่าเป็นบุญ ในขณะเราเสียใจขณะไหนเวลาใดเราตกนรกแล้ว นรกกับสวรรค์อยู่ด้วยกัน มันเป็นสายเดียวกัน จึงว่าไม่ใช่คน คนใดยังไปตกนรกอยู่ ไม่ใช่คน คนใดยังมีความหนักใจ ทุกข์มาก ไม่ใช่คน แต่หน้าตาแข้งขามือเท้าเป็นคน ในระยะนั้นเป็นคน แต่เรายังไม่ใช่คน ในขณะที่เราสบาย เราไม่เคยรู้ว่าเราสบาย สบายอะไร สบายจิตใจเป็นอย่างไร ไม่เคยดูเลย ตัวหลวงพ่อก็ไม่เคยดู นึกว่าเราสบายแล้ว นึกว่าเราเป็นคน ไม่ใช่คนนะ เป็นลักษณะจิตใจของเปรต จิตใจลักษณะนั้นเป็นลักษณะเปรต ถ้าหากเรายังไม่เข้าใจก็เรียกว่าเราเป็นเปรตแล้ว เรายังไม่รู้ว่าเราเป็นเปรต เราจะหนีจากเปรตได้ไหม หนีไม่ได้ ในขณะที่เราโกรธ เกลียด เราเป็นสัตว์นรกแล้ว เราจะหนีจากสัตว์นรกได้ไหม ก็วันนี้ไม่โกรธ พรุ่งนี้มันจะโกรธขึ้นมา วันนี้ไม่เกลียด พรุ่งนี้มันจะเกลียดขึ้นมา วันนี้ไม่เป็น พรุ่งนี้มันเป็น เราหนีไม่ได้จะเป็นคนไหม ไม่ใช่คน ก็เรายังอยู่ภูมิเดียวที่เขาเรียกว่าสัตว์ อันนั้นเขาเรียกว่าสัตว์ แต่ใครๆ ก็เป็นสัตว์ได้เหมือนกัน

อันนี้ที่นำมาเล่าให้ฟังให้เข้าใจว่าโลกียธรรม โลกุตตรธรรม หรือว่านรก สวรรค์ ในขณะเรามีความทุกข์ โกรธ เกลียด ไม่สบายใจ เขาเรียกว่ามันเป็นการขัดแย้งกันอยู่ในตัวเราเอง คนนั้นพูดไม่ดี คนนี้พูดไม่ดี คนอื่นน่ะเราจะไปห้ามเขาได้ไหม ไม่ได้ เราต้องห้ามตัวเราถ้าเราเป็นคนนะ ถ้าเราไปห้ามคนอื่น ไม่ใช่คนอีกแล้ว เป็นสัตว์อีกแล้ว มันเป็นการขัดแย้ง เราขัดแย้งเองนะ เราทุกข์นี่ เขาไม่ได้ทุกข์กับเรานะ สมมติเขาจะทำอย่างนั้น ห้ามแล้วเขาไม่ฟัง เรื่องของเขานี่ ไม่ใช่เรื่องของเรา เมื่อเราไปห้ามเขา เขาไม่ฟัง เราทุกข์ มันขัดแย้งตัวเรา เขาไม่ทำกับตัวเราแล้ว เราทุกข์แล้ว เราก็เป็นสัตว์นรกแล้วนี่ ใกล้ๆ ที่หลวงพ่อพูดนี่

เรื่องความทุกข์นี่ พระพุทธเจ้าสอนให้คนรู้จักทุกข์จริงๆ เมื่อเราไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นเราก็เป็นสวรรค์ เป็นสวรรค์ เป็นคนแล้ว แต่ยังไม่ใช่เป็นมนุษย์นะ เป็นคน เลือกคัดจัดหาได้ อ้อ...ลักษณะสมบัติของคน มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ มันจะเป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้ว บัดนี้หักห้ามได้ เป็นมนุษย์ เป็นสวรรค์แล้วบัดนี้ สวรรค์เป็นโลกียธรรม โลกียธรรมกับโลกุตตรธรรม ฟังให้เป็น จำให้ได้ แต่ต้องไปปฏิบัติเอาเองนะ ถ้าไม่ปฏิบัติเอาเองไม่ได้ ใครทำให้ไม่ได้ บิดามารดาทำแทนลูก ทำไม่ได้ ลูกจะทำแทนบิดามารดาก็ไม่ได้ สามีภรรยาทำแทนกันไม่ได้เรื่องนี้ เคยได้ยินไหม พระพุทธเจ้า ท่านสอนว่า อักขาตาโร ตะถาคะตา พระตถาคตเป็นแต่เพียงคนแนะแนวเท่านั้นเอง การประพฤติปฏิบัตินั้นเป็นหน้าที่ของเธอ เธอปฏิบัติถูกต้อง เธอก็ได้รับผล เธอปฏิบัติผิด เธอก็ได้รับทุกข์เท่านั้นเอง

ดังนั้น ประเทศอินเดียมีร้อยแปดลัทธิ ร้อยแปดอาจารย์ ร้อยแปดศาสนา ใครชอบธรรมะใครก็ต้องไป เราเคยได้ยินไหม องคุลีมาลฆ่าคน ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าก็ตายแล้ว องคุลีมาลนี่ นี่แหละอาจารย์สอน ให้เข้าใจ ฟังแล้วเชื่อทันทีก็ไม่ได้ ฟังแล้วไม่เชื่อถือก็ไม่ได้ เราต้องใช้เหตุผล พุทธศาสนาสอนเหตุผล ไม่ใช่สอนให้เชื่อทันที สอนเชื่อทันทีเขาว่างมงาย ไม่รู้ สอนเชื่อทันทีคือใคร คือองคุลีมาล อาจารย์สอนว่าเรามีคาถาอันหนึ่งดีที่สุด แต่ลูกศิษย์ลูกหาเรียนไม่ได้ แต่เธอเป็นคนเรียนเก่งจะสอนให้ แต่ว่าคนต้องใจถึง เขาจะฆ่าองคุลีมาล แต่องคุลีมาลไม่รู้ แสดงว่าองคุลีมาลเป็นคนจริง แต่เป็นคนขาดปัญญา ให้องคุลีมาลไปฆ่าคนถึงพันคนแล้วจะสอนคาถาให้ คนจำนวนพันคนต้องฆ่าองคุลีมาลได้เขาคิดอย่างนั้น แต่คนมันไม่ฉลาด ก็เลยไปฆ่าคน แน่ะ...เป็นอย่างนั้น อันนี้แหละ เราต้องใช้สติปัญญา การทำ การพูด การคิด ไม่ใช่ว่าฟังแล้วเชื่อทันทีมันผิดไป ฟังแล้วไม่เชื่อเลยก็ผิด ก็คือ อุปกาชีวกแสวงหาพระพุทธเจ้าเมื่อไปเจอกับพระพุทธเจ้า รูปโฉมและการเดินเหิน การไปการมาดูสวยสดงดงาม จึงถามพระพุทธเจ้าว่า “เธออยู่สำนักไหน เป็นลูกศิษย์ของใคร ครูบาอาจารย์ของท่านสอนเรื่องอะไร” พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “เราไม่ได้เป็นลูกศิษย์ของใคร ไม่ได้อยู่สำนักไหน ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ เราตรัสรู้เองโดยชอบ” อุปกาชีวกคนนั้นก็ไม่ฟังเสียงเลย ไม่มีคนสอนจะรู้ไหม แน่ะ...เข้าใจอย่างนั้น อันนี้ก็เป็นการเข้าใจผิดทั้งหมด เชื่อทันทีก็ไม่ได้ ไม่เชื่อทันทีก็ไม่ได้ ในประเทศอินเดียมีหลายลัทธิ มีหลายอาจารย์ มีลัทธิไม่นุ่งเสื้อไม่นุ่งผ้าก็มี นอนเสี้ยนนอนหนามก็มี กินน้ำร้อนนอนย่างไฟก็มี แน่ะ! กินข้าวเลียเอาเหมือนสุนัขก็มี ครูบาอาจารย์เคยเล่าให้ฟัง หลายลัทธิหลายนิกาย เราชอบใครก็ต้องไปหาคนนั้น ที่อาตมาพูดนี่ไม่ได้ห้ามคนนั้นคนนี้ ใครชอบก็ต้องไป มันจะขัดนโยบายไม่ได้ หลวงพ่อเคยพูด คนกำลังวิ่งมา เรายืนอยู่ที่นี่ ยืนสู้ไม่ได้เราต้องเปลื้องตัวให้เขาไป เขาจะไปแล้วถ้าเราไปยืนสู้ เขาก็ชนเรา เราก็กระเด็นหนี เราก็เจ็บ เราไม่ต้องไปสู้ ไปทวนกระแส ปล่อยไปตามธรรมชาติอย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอน-พูดความจริงให้ฟัง แล้วก็แล้วไป เขาจะเอาก็ได้ ไม่เอาก็ได้ ท่านว่าอย่างนั้น

ดังนั้น พวกเรามาฟังธรรมวันนี้ก็น้อยๆ คน แต่พูดความจริงให้ฟัง ลักษณะนรกนั้นคือในลักษณะจิตใจเราเดือดร้อน เราไม่ใช่คนแล้วนั่น แต่ถ้าเราเป็นคน เรารีบรู้จักทันที อ้อ...เดือดร้อนแล้ว เป็นนรกแล้วก็ทิ้ง เที่ยวหลัง เออ...มันเป็นอย่างนี้ เราก็รู้จักใจเรา ที่หลวงพ่อเคยพูดว่าให้ดูการเคลื่อนไหวของรูปกายภายนอก แล้วก็ดูจิตใจนึกคิด จิตใจมันนึกมันคิดขึ้นมา เราไม่ทัน มันก็เป็นอารมณ์ เมื่อเป็นอารมณ์ก็ทำไปตามใจคิด เมื่อทำไปตามใจคิดมันก็ตกต่ำซิ ใจมันไปข้างต่ำ จึงว่า ให้ดูใจ เมื่อคิดขึ้นมา เห็น รู้ เข้ามาทำความเคลื่อนไหว มันจะวาง วางใจ มันจะมาอยู่กับความรู้สึก เมื่อมาอยู่กับความรู้สึกแล้วปัญญามันจะเกิด คนจะล่วงทุกข์ไปได้เพราะปัญญา บัดนี้ปัญญา เมื่อมันคิดเมื่อกี้นี้ผิด ลักษณะนั้นมันเป็นอย่างนั้น เราก็เห็น เราก็รู้ เที่ยวหลังมันเป็นมาเราก็ต้านมันไว้ได้ เรียกว่าเป็นมนุษย์ มนุษย์จึงหักห้ามจิตใจได้ ถ้าเราหักห้ามจิตใจไม่ได้ ก็ยังเป็นมนุษย์ไม่ได้ ก็ยังเป็นคน แต่รู้จักแล้วคน รู้จักว่าจะหนีแล้ว แต่มันหนีไม่ได้ สมมติเอาที่นี่เป็นป่า ที่วัดเราเป็นป่า มีเสือ มีตะขาบ มีแมงป่อง มีงู มีสัตว์ร้ายอยู่ที่นี่นะ เราจะอยู่ที่นี่ต้องหาวิธีกัน ถ้าเราไม่หาวิธีกัน อันนี้เขาเรียกว่าโลกียธรรม เพราะเราหนีไม่ได้ ถ้าเราหนีจากนี่ไปพ้นแล้ว เขาเรียกว่าโลกุตตรธรรม โลกียธรรมเป็นวิสัยของคนผู้ที่ไม่รู้ไม่รู้ทิศทางออกนั่นเอง ไม่รู้ทางออกไปจากทุกข์ เป็นโลกียธรรม โลกุตตรธรรมรู้จักทางออกจากนี่ไปเลย ไม่ต้องเข้ามาที่นี่ เราข้ามไปอยู่ฟากคลองฝั่งนั้น สัตว์ร้ายมันตามเราไม่ได้ เสือก็ตามไปไม่ได้ ตะขาบ แมงป่องตามเราไม่ได้ เราก็มองดูสภาพสัตว์เหล่านั้น มันก็ยุ่งกันอยู่ที่ตรงนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนใกล้ๆ แต่เรามันไปเข้าใจลึกเกินไป ก็เลยไม่เข้าใจความหมาย ตายแล้วจึงจะเอาสวรรค์ ตายแล้วจึงเอานิพพาน หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น บัดนี้หลวงพ่อไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก็คือหลวงพ่อพูดแต่ความจริง เมื่อมาที่นี่ก็ต้องพูดความจริงให้ฟัง แต่คนไม่ยอมรับความจริง แต่คนทุกคนต้องการความจริง พูดความจริงให้ฟังไม่ยอมรับความจริง มันเป็นอย่างนั้น

ดังนั้น คนเราถือศาสนาพุทธทำไม แล้วการกระทำยังไม่เข้าใจหลักพุทธศาสนา เพราะเรื่องอะไร เพราะเราไปติดรูปแบบ ไปติดครูติดอาจารย์ ติดคนใดพูดเก่ง คนใดมีความรู้ เอ้า...รู้อย่างนั้นน่ะนับเม็ดหินเม็ดทรายในท้องมหาสมุทรทะเลได้ทุกเม็ด พระพุทธเจ้าก็ว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลยมาแก้ปัญหาตัวเองไม่ให้มีการขัดแย้งเกิดขึ้นภายในจิตใจตัวเองดีกว่า มีประโยชน์กว่า ไม่ต้องเขียนหนังสือเป็นก็ได้ ไม่มีเงินก็ได้ ไม่มีความรู้อะไรก็ได้ แต่ว่าแก้ปัญหาตัวเองให้ได้ คนแก้ปัญหาการขัดแย้งตัวเองไม่ได้ แม้จะมีเงินสักพันล้านก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย คนๆ นั้นจะพ้นทุกข์ไปได้ไหม วันนี้เขามีเงินบางทีเขานอนเขาอาจจะคิดก็ได้ เขาอาจจะมีความทุกข์ขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ แต่วันนี้เราไม่มีเงิน แต่เราไม่ยอมให้ความทุกข์ประเภทนั้นเกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา เราก็หันหลังให้ เรียกว่าเราจะไปโลกุตตรธรรม แต่โลกุตตรธรรมคือนิพพาน จึงไม่มีการเกิด ไม่มีการแก่ ไม่มีการเจ็บ และไม่มีการตาย เพราะมันพ้นภัยไปแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เราไม่รู้ว่าโลกุตตรธรรม คืออะไร อยู่ที่ไหน คนโบราณบ้านหลวงพ่อเคยสอนเอาไว้ว่า สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ พระนิพพานก็อยู่ที่ใจ ใจมันอยู่ที่ไหน เราเคยเห็นใจเราบ้างไหม ไม่เคยเห็น เมื่อไม่เคยเห็นเราก็ต้องศึกษา ต้องปฏิบัติให้รู้ว่าใจเราคืออะไร ไม่ใช่ใจมันคิดนะ อันใจที่มันคิดน่ะเขาว่าเป็นอารมณ์ เป็นใจคิด แต่ตัวใจจริงๆ มันไม่ใช่อันนี้ เรียกว่าคนมันไม่เข้าใจคำพูด จึงทำให้ความรู้สึกตัว ความรู้สึกนั้นคือ ใจ ความรู้สึกมันเปลื้องตัวออก ให้ความรู้สึกทำหน้าที่ของมัน ถ้าหากความรู้สึกไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน เราก็ไปคิดหักห้าม มันก็ไหลไปตามกระแสของอารมณ์ ไหลไปตามกระแสของความคิด เราจะรักษาศีล ให้ทาน ทำกรรมฐาน เจริญวิปัสสนาเท่าใดก็ตาม ถ้าเรายังไม่มาแก้ปัญหาการขัดแย้งตัวเราแล้ว ไม่มีโอกาส ไม่มีทางเลย

ข้อแรกที่สุดต้องรู้อันนี้ก่อน หลวงพ่อรู้รูป-นามก่อน เมื่อรู้ รูป-นามตอนเช้า ตอนเย็นหลวงพ่อก็รู้จิตใจหลวงพ่อคิด เมื่อรู้จิตใจหลวงพ่อคิด เรื่องความโกรธ เรียกว่า โทสะ โมหะ โลภะ ลดน้อยไปทันทีเลย เพราะเห็น หักห้ามได้นี่ เราก็มีสติเข้าไปรู้ ความรู้ตัวนี้มันเข้าไปรู้อยู่นั่นแล้ว เหมือนกับมีเก้าอี้ตัวเดียว มี ๒ คนจะเข้าไปนั่ง เราต้องพยายามนั่งเก้าอี้อยู่เสมอ อย่าให้คนอื่นเข้ามาแย่งนั่ง ถ้าคนอื่นเข้ามาแย่งแล้วเราก็เข้าไปไม่ได้ อันนี้ก็เช่นเดียวกัน ความรู้สึกให้มันรู้อยู่ตลอดเวลา ให้มันเผลอน้อย เมื่อมันรู้อยู่ตลอดเวลา ความคิดนั้นมันจะไม่ไหลไปเลย มันจะไม่เข้ามาความหลงผิด มันจะไม่เป็นอารมณ์ มันคิดปุ๊บขึ้นมา มันจะไม่มีอารมณ์ อารมณ์นั้นมันจะไหลไปเลย อารมณ์ คนมันชอบอารมณ์ เมื่อมันชอบอารมณ์ก็เลยไหลไป หลงตนลืมตัว หลงกายลืมใจ ท่านว่าอย่างนั้น

ที่หลวงพ่อนำมาพูดให้ฟัง ให้เราเข้าใจ โลกียธรรมเป็นวิสัยของโลก แม้จะมีเงินสักพันล้านก็ยังเป็นวิสัยของโลก แม้จะเรียนหนังสือจบประโยคเก้าก็ยังเป็นวิสัยของโลก แม้จะเรียนหนังสือจบปริญญาเอกสักร้อยปริญญาเอกก็เป็นวิสัยของโลก เพราะหนีจากโลกไม่ได้ เขาว่าโลกียธรรม แต่ความดีอันนี้ไม่ได้ดีในโลกุตตรธรรม พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เอาดีในโลกุตตรธรรม แต่ว่าเรายังอยู่ในโลกียธรรมก็ได้ แต่อย่ามาอาศัยโลกียธรรมเป็นพื้นฐาน ให้เราอาศัยโลกุตตรธรรมเป็นพื้นฐาน ท่านว่าอย่างนั้น แต่เราอยู่ในโลกียธรรม พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกทุกองค์หมดทุกข์แล้ว ไม่ใช่ตายทันที แต่เขายังอยู่โลกียธรรม แต่เขาอยู่โลกุตตรธรรม เขาไม่มีทุกข์ ดังนั้นทุกคนทำได้ เรื่องนี้

จึงว่าให้ศึกษาตัวเอง แก้ไขตัวเอง ควบคุมตัวเอง ถ้าไม่ศึกษาตัวเอง ไม่แก้ไขตัวเอง ไม่ควบคุมตัวเองแล้ว ไม่มีโอกาส ไม่มีเวลาที่จะพบกับตัวเองได้ เพราะตัวเองไม่เห็นตัวเองจะพบกับตัวเองได้ทำไม ตัวเองเป็นอะไรก็ยังไม่รู้ เมื่อไม่รู้แล้วจะไปที่ไหนได้ คนไม่มีปัญญา สมมติเอานะ เราจะเดินไปก็ไม่ถูกถนนหนทาง ก็ลงคูลงคลอง ล้มลุกคลุกคลานเจ็บปวดไป คนมีปัญญาเขาจะไม่ไปที่มันเจ็บปวด เขาจะไม่ไป เขาจะค่อยหลบไป แก้ไขไป เป็นอย่างนั้น

ดังนั้น พวกเราเป็นคนไทยถือศาสนาพุทธ แล้วก็เป็นมนุษย์จริงๆ ถือศาสนาพุทธจริงๆ ต้องเข้าใจความหมาย ถ้าไม่เข้าใจความหมายจะไปติดศัพท์แสงบาลมบาลี มันก็ไม่ใช่เป็นภาษาไทย เราเป็นคนไทยต้องเรียนภาษาไทย คนไทยก็โกรธเป็นเหมือนกัน คนฝรั่งก็โกรธเป็นเหมือนกัน คนจีนก็โกรธเป็นเหมือนกัน จึงว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่เป็นของใคร ไม่เหมือนกับศาสนาอื่นๆ ศาสนาอื่นๆนั้นอาศัยพระผู้เป็นเจ้ามารับรองเอาดวงจิตวิญญาณ แล้วก็ไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น สอนให้มีเหตุผล ทำเหตุดีผลออกมาก็ดี ทำเหตุเลวทรามผลออกมาก็ได้รับผลเลวทราม ท่านว่าอย่างนั้น

ดังนั้น ความโกรธ ความโลภ ความหลง เป็นโลกียธรรม โกรธบ้าง ไม่โกรธบ้าง มีทุกข์บ้าง สุขบ้าง เป็นโลกียธรรม โลกียธรรมกับสวรรค์ สวรรค์กับโลกียธรรมเป็นคำเดียวกันนะ นรก อเวจี เป็นคำเดียวกัน ถ้าไปตกนรกเรียกว่าขุมน้อย ถ้าไปตกอเวจีแล้วขุมใหญ่ นานได้เกิด เราเคียด (โกรธ) บางทีตั้งวันก็มี บางคนแป๊บเดียวหาย นั้นเป็นนรก ถ้าเคียด (โกรธ) ยืดถือเข้าไปเขาว่าเป็นอเวจี พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แต่ละพระองค์จะเห็นแสงของพระพุทธเจ้านิดเดียวเท่านั้นเอง เพราะว่าความโกรธมันหนักใจ บัดนี้เมื่อเรามาคิดว่า เอ้อ...มันโกรธแป๊บเดียวก็หายไป ตกนรกขุมน้อย ถ้าเราโกรธนาน คนอื่นมาพูดให้เรา เรายังไม่รู้สึกตัว เราก็ไปตกอเวจีแล้ว พอดีหาย เราขึ้นมาสวรรค์ แต่เรายังไม่รู้ว่าไปสวรรค์ เป็นอย่างนั้น สวรรค์กับนรกเป็นสายเดียวกัน โลกียธรรมกับนรกกับสวรรค์เป็นสายเดียวกัน

บัดนี้ โลกียธรรมคำเดียวนะ โลกียธรรมกับโลกุตตรธรรมไปสายเดียวกัน แต่ว่าเป็นคนแล้ว เดินออกมาจากนั้นแล้ว มาอยู่ในโลกียธรรม เราจะเดินไปสู่โลกุตตรธรรมที่ตรงไหน เราพยายามดูใจเรา เราจะเดินไปสู่โลกุตตรธรรมที่ตรงไหน เราพยายามดูใจเรา มันคิดขึ้นมา เราเห็น เรารู้ มันคิดเคียดแค้นแน่นใจกับใคร ปล่อยไป เราพยายามเลือกเอาแล้ว บัดนี้ เลือกเอาอันที่ใจสบาย จิตใจสบายไหม อันความสบายนี่เราต้องพยายามอยู่กับความสบาย นี่เรียกว่าเป็นวิสัยของมนุษย์ เป็นมนุษย์สมบัติ เป็นสวรรค์แล้ว ถ้าสบายกว่านี้ แล้วรู้จักเป็นนิพพานสมบัติ นิพพานหมายถึงไม่มีกลับแล้ว แต่เข้าใจใกล้ๆ ที่หลวงพ่อพูด ไม่ต้องอะไรทั้งหมดเลย ศีลก็ทำให้เราไม่ได้ อะไรทำให้เราไม่ได้ ได้แต่เฉพาะปัญญาเท่านั้น คนจะล่วงทุกข์ไปได้เพราะปัญญา ท่านว่าไม่ใช่คนจะล่วงทุกข์ไปได้เพราะความไม่รู้ ไปนั่งหลับหูหลับตาไม่ใช่อย่างนั้น

ที่หลวงพ่อพูดให้ฟังนี่ ตั้งใจทำ อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ แต่ขอให้ว่าคนที่จะมาแนะเราไปเท่านั้นเอง เราจะไปที่ไหนก็ต้องไป เลือกเอา ไม่มีใครห้าม เลือกครูบาอาจารย์ เลือกได้ เรามีสิทธิ์เต็มที่ เพราะเราเป็นคน ชอบองค์ใดต้องไปหาองค์นั้น อย่าให้มันเสียเวลา ถ้าเราชอบองค์นี้กลับไปติดองค์นั้น มันก็ไม่ได้ผล มันก็เสียเวลา วันหนึ่งมี ๑๒ ชั่วโมง เราไปเสียเวลา ๒ ชั่วโมง เหลือเวลาเพียง ๑๐ ชั่วโมง เราเสียเวลาไป ๔ ชั่วโมง เราก็เหลือเวลาน้อยเข้าไปอีก บางคนเสียเวลาตั้ง ๖ ชั่วโมงก็มี เดินทางจะไปที่ไหนได้

โลกียธรรมหมายถึงไปไม่ถึงโลกุตตรธรรม ไปไม่ถึงนิพพาน ให้เข้าใจอย่างนี้ เมื่อเราไปถึงนิพพานเมื่อใด นั่นแหละเรียกว่า เราเป็นโลกุตตรธรรม เมื่อเรายังไม่รู้โลกุตตรธรรม เราก็ยังอยู่ในโลกียธรรม เป็นวิสัยของคนผู้ที่ไม่รู้ ถ้าคนใดออกจากโลกียธรรมไปได้ เป็นโลกุตตรธรรม เป็นวิสัยของบุคคลผู้ที่รู้ เรียกว่าอริยะบุคคล อริ แปลว่าข้าศึก ยะ แปลว่าพ้นไปแล้วจากความทุกข์ ท่านสอนเท่านั้นเอง

เราเคยสวดกัน ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นหมู่ใดปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว ออกจากทุกข์ไปได้ เขาเรียกว่าเป็นโลกุตตรธรรม ถ้าออกจากทุกข์ไม่ได้ปัดตัวไม่ได้ เขาเรียกว่าโลกียธรรม ดังนั้น คนทุกคนยังไม่ทันตาย อยากเกิดแล้ว ผิดแล้วครับ พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้จักว่าการเกิดเป็นทุกข์ เกิดเป็นคนทุกข์อย่างคน เกิดเป็นเทวดาทุกข์อย่างเทวดา เป็นเทวดาก็ตายเป็นนะ เป็นคนก็ตายเป็นนะ เกิดชาติเดียวตายชาติเดียว เกิดสองครั้งตายสองครั้ง เกิดสิบครั้งตายสิบครั้ง แต่คนมันอยากมาเกิด แล้วแสดงว่าคนนั้นรู้ไหม ไม่รู้ แสดงว่าคนนั้นเป็นคนไหม ไม่ใช่คน ถ้าพูดอย่างนี้อย่าไปเสียใจ เสียใจก็ทุกข์แล้ว หลวงพ่อพูดความจริงให้ฟัง คนอยากมาเกิดก็อยากมาตายซิ แล้วเกิดมาแล้วที่ไหนไม่ตาย ต้นไม่ก็ตาย คนก็ตาย เกิดทีใดตายทุกที จึงว่าพระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้จักเห็นพิษภัยอันนี้ จึงว่าไปให้พ้น ท่านบอก พระวักกลิไปให้พ้น ไปให้พ้น

หลวงพ่อพูดว่า เราจะสงวนควบคุมตัวเองได้ จวนจะหมดลมหายใจนี่ ทุกคนต้องประสบเรื่องนี้จริงๆ พูดให้ฟังมาแล้วอย่างน้อยต้องสิบครั้งหรือสักร้อยครั้งก็ได้ อาจจะได้ยินแล้ว เพราะเคยพูดเรื่องนี้ ถ้าหากควบคุมอันนี้ไม่ได้ เราก็ไม่ใช่คนแล้ว มันจะกลับมานี่ ควบคุมให้มันได้ จึงว่าศึกษาตัวเอง ควบคุมตัวเอง ร่างกายนี้ควบคุมไม่ได้ มันหิวต้องให้กิน เรื่องจิตใจควบคุมได้ ทำไมจะควบคุมไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มีตัวไม่มีตน เราไม่ทำกับมันแล้ว ก็แล้วเท่านั้นเอง ถ้าเราหวังอยากมาเกิดอีก ก็อยากมาตายอีก ก็อยากมาทุกข์อีก ก็เป็นโลกียธรรม ก็อยากไปนรกบ้าง ไปสวรรค์บ้าง ถ้าคนใด เออ..ไม่เอาแล้ว การเกิดนี่ไม่เอาแล้ว มันก็แล้วกันไปเท่านั้น ก็เป็นโลกุตตรธรรม เราไม่หวังแล้ว มันก็แล้วกันไปเท่านั้น ก็เป็นโลกุตตรธรรม เราไม่หวังแล้ว จึงว่าที่พูดนี่ไม่ได้หักห้ามใครทั้งหมด หลวงพ่อพูดความจริง คนไม่เข้าใจหลักพุทธศาสนา จะไปเรียนเอา มันจะรู้ทำไม ต้องปฏิบัติให้มันเกิดความรู้ ทำอย่างไรจึงจะเกิดปัญญา ทำอย่างไรจึงจะมีญาณปัญญา ทำอย่างไร เราต้องเสาะแสวงหาจนได้ ถ้าเมื่อเรายังมีลมหายใจอยู่ ไม่เสาะแสวงหาแล้วจะมีโอกาสได้ไหม ไม่มีโอกาสแล้ว อายุ ๓๐ ปี ๔๐ ปี บางคน ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๑๐๐ ปี ตายเน่าเข้าโลง ยังไม่เคยรู้ว่าเราเป็นอะไรเลย หลวงพ่อก็ไม่เคยรู้ แต่ว่าหลวงพ่อเคยให้ทานมา เคยรับศีลมา แต่หลวงพ่อไม่รู้ หลวงพ่อนึกว่าทำบุญมากๆ ตายแล้วไปเกิดเมืองสวรรค์เป็นเทวดา แล้วจะกลับมาเกิดในเมืองคนเป็นคนสวยรวยทรัพย์ หลวงพ่อเข้าใจอย่างนั้น หลวงพ่อต้องการอย่างนั้น เมื่อมาประสบสิ่งเหล่านี้ หลวงพ่อไม่เอาแล้ว สิ่งเหล่านั้น ใครจะว่าอย่างไรหลวงพ่อก็ไม่เอา จะว่าหลวงพ่อเป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็เป็นได้ ใครจะว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ ก็เป็นได้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องสมมตินี่ พระพุทธเจ้าสอนเราให้เรารู้จักเท่านั้น เรารู้จักแล้วเราจะหนีหรือเราจะอยู่เท่านั้นเอง คนรู้จักแล้วอยู่ก็ไม่ใช่คนแล้ว รู้จักแล้วต้องหนี ถ้ารู้จักแล้วไม่หนีก็ไม่ใช่คน หนีไม่ได้ก็เป็นโลกียธรรม

ไม่ใช่รู้แล้วดีไม่ใช่อย่างนั้น รู้แล้วต้องหนี ครั้นรู้แล้วไม่หนี ไม่มีประโยชน์กับคุณค่าที่เรารู้มาเลย สมมติเราหิวข้าวนี่ มีข้าวอยู่ที่นี่ เราไม่กิน แล้วจะมีประโยชน์อะไร ข้าวอันนั้น หิวข้าวแล้วต้องกินข้าว กินแล้วมันหมดหิว มันก็ดีเท่านั้นเอง อันนี้เรารู้ว่าสิ่งนี้เป็นพิษเป็นภัยกับชีวิตของเรา เราก็ไม่ทำแล้ว มันก็แล้วกันเท่านั้นเอง ไม่มีเรื่องอะไร ใกล้ๆ ฟังวันนี้ใกล้ๆ เพราะว่าไม่ต้องพูดอะไรกันมาก

โลกียธรรม โลกุตตรธรรม หรือว่า สวรรค์ นรก อเวจี พูดให้ฟังใกล้ๆ นรก คือความร้อนอกร้อนใจ มีทุกข์ แล้วในขณะไหนเวลาใดความทุกข์อันนั้นมันจางคลายไป เราก็ขึ้นสวรรค์ โกรธมาเที่ยวหน้าตกนรกอีกแล้ว แน่ะ...เป็นสวรรค์เป็นนรก บัดนี้เราอยู่แต่เพียงสวรรค์ ไม่ไปตกนรก แต่ว่าไม่รู้จักทิศทางออก ทำอยู่กับโลกียธรรม อันนี้เขาว่าโลกียธรรม เราจะแสวงหาโลกุตตรธรรม นี่ทางนี้ ออกทางนี้ บัดนี้เมื่อเราหาทางออกจากโลกียธรรมไม่ได้ เราก็ต้องหมุนเวียนอยู่ในโลกียธรรม ทำดีกับโลกเป็นวิสัยของคน เป็นวิสัยของสัตว์โลก เป็นวิสัยของสัตว์ ยังไม่เป็นวิสัยของมนุษย์ ยังไม่เป็นวิสัยของพระอริยบุคคล ให้เข้าใจอย่างนั้น

เมื่อเราแสวงหาทางพ้นทุกข์ได้แล้ว นั่นแหละเป็นวิสัยของโลกุตตรธรรม ไม่ใช่ว่ารู้ทันทีได้ทันทีนะ เราต้องอาศัยทำให้มีญาณปัญญาจริงๆ ทำจริงๆ ไม่ทำจริงแล้วมันก็ไม่ได้ผลจริง ดังนั้นนิพพานคืออะไร ไม่รู้ถามดูก็ได้นี่ หลวงพ่อคิดว่าหลวงพ่อถามได้

หลวงพ่อ - นิพพานหมายถืออะไร รู้ไหม พูดเลย เอ้าใครรู้ หมายถืออะไร หรือไม่รู้

ผู้ฟัง - ..........(มีผู้ตอบแต่เสียงเบามาก)

หลวงพ่อ - ไม่ต้องทำมัน ใจมันสบายแล้ว มันมีแล้ว นิพพาน ไม่ต้องไปทำอะไรมัน คำว่า นิพพานนี้ มันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ต้องทำอะไรเลย มันมีแล้วนี่ เราจะตายนี่มันมีแล้วที่จะทำให้เราตาย คล้ายๆ คือเรามันจะมีอันตัดสินเอง หลวงพ่อว่าสัจจะคือของจริงแท้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คนทุกคนต้องตาย ต้องไปประสบอันนี้นี่ ถ้าเราไม่รู้จักอันนี้ เราจะไปโลกียธรรม ถ้าเรารู้จักอันนี้ มันจะเป็นทางออกไปทางนี้ มันมาทางนี้เป็นโลกียธรรม ไปทางนี้จะเป็นโลกุตตรธรรมสอนกันให้รู้จัก ให้มันเห็น ให้มันรู้ ให้มันเข้าใจ

ดังนั้น คนมันไม่เข้าใจ โลกกุตตรธรรมไม่ต้องทำอะไร โลกียธรรมต้องทำ ในขณะที่เราทำอย่างไรจิตใจเราสบายนี่ เราไม่ต้องทำอะไรมันเลย มันเป็นเองอยู่แล้วนี่ ความเป็นเองนั้นแหละเรียกว่าโลกุตตรธรรม ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตาย คำว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ต้องทำอะไร มันมีแล้ว จึงว่าเป็นสัจจะ เป็นของจริง เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คนไทยก็ต้องตายอย่างนั้น คนจีนก็ต้องตายอย่างนั้น คนฝรั่งเศส คนอังกฤษ คนอเมริกา พระสงฆ์องค์เจ้าก็ต้องตายอย่างนั้น จึงว่าใครรู้ก็เป็นของคนนั้น ใครไม่รู้ไม่เป็นของคนนั้น ไม่ว่าศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาอะไรก็ตาม มันมีในคนทุกคน ไม่ใช่ว่ารู้แล้วจะสงวนลิขสิทธิ์ไม่ให้คนอื่นทำได้ ไม่ใช่อย่างนั้น รู้แล้วทำลายก็ไม่ได้ เพราะมันทำลายไม่ได้ มันไม่มีอะไรจะไปทำลายมันได้ แล้วจะไม่ให้คนอื่นรู้มันก็ไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของคนที่ทำรู้เอง เรารู้แล้วจะทำลายมัน ทำลายไม่ได้ เพราะมันเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น พวกเรามาที่นี่ก็ต้องพยายามพูด หลวงพ่อพูดบ่อยๆ แต่คนฟังดูมันเข้าใจน้อยนะ เพราะว่าสิ่งที่ไม่เคยฟังนั่นแหละมันสำคัญ อย่างที่หลวงพ่อพูด ฟังแล้วไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจก็ว่า โอ๊ะ...มันไม่มี มันก็ไม่มีของเขา แต่มันมีในเขา แต่เขาไม่รู้ เหมือนกับเกลียวที่มันอัดแน่นไว้ ขันแน่นไว้ แล้วไม่มีวันที่จะหมุนออกมา มันก็ไม่คลายออกมา เกลียวมันแน่นอยู่อย่างนั้น มันก็คว่ำหน้าอยู่อย่างนั้น ไม่หงายขึ้นมา มันก็ปิดอยู่อย่างนั้น ไม่เปิดเลย เท่านั้นเอง

จึงว่าลัทธิเมืองไทยก็มีหลายนะ อาจารย์นั้นดังๆ อาจารย์นี้ดังๆ ก็ต้องไปหาอาจารย์ดังๆ ดังทุกองค์ อาจารย์ใดดีต้องไปหาเลย เราชอบอาจารย์ไหนต้องไปหาอาจารย์นั้น แต่เราเลือกเอาให้เป็นเพราะเราเป็นคน เราเป็นมนุษย์ ใครจะห้ามเราไม่ได้ อย่าไป เราต้องไปถ้าเราชอบนะ ถ้าเราไม่ชอบ ไม่ต้องไป ให้เข้าใจอย่างนั้น จึงว่าการเลือกคัดจัดหาเอาให้เป็น อย่างที่องคุลีมาลโจรก็ประสบมาแล้ว เขาจะแกล้งฆ่าเราก็ได้ องคุลีมาล อาจารย์ให้ฆ่าคนตั้งพันคนต้องมีคนหนึ่งฆ่าองคุลีมาลได้ เขาคิดอย่างนั้น แต่องคุลีมาลไม่รู้ โชคดีมีพระพุทธเจ้า ถ้าหากไม่มีพระพุทธเจ้าแล้ว องคุลีมาล ก็ต้องถูกเขาตัดคอเหมือนกัน

อันนี้ก็เหมือนกัน ให้เข้าใจคือว่าเดี๋ยวนี้ครูบาอาจารย์สอนหลายอย่าง หลวงพ่อเคยเห็น หลวงพ่อก็เคยไปฟังเทศน์ ฟังธรรมกับครูบาอาจารย์ดีทุกองค์ สอนด้วยความจริงใจ แก้ไขปัญหาตัวเอง แก้ไขปัญหาคนนั้นคนนี้ ช่วยกันแก้ไขให้ประเทศชาติบ้านเมืองของเราเจริญขึ้น อย่าให้มีการขัดแย้งภายในจิตใจของเรา ถ้ามีการขัดแย้งภายในจิตใจของเรา ใครสอนก็ไม่ตรง เราต้องมาแก้ปัญหาตัวเรา การขัดแย้งมีที่ตัวเรา คนนั้นพูดไม่พอใจ เขาไม่ได้รู้ใจเรา เราไม่พอใจเขาไม่รู้ เราชอบเขาก็ไม่รู้ เราเกลียดเขาก็ไม่รู้ จึงว่าเราดูที่ใจเรา เมื่อเราไม่มีการขัดแย้งกับใจเราแล้ว เราไปกับใครก็ได้ อยู่กับสัตว์ร้ายก็ได้ เพราะว่าสัตว์ร้ายมันไม่ได้ทำเราแล้วนี่ ที่หลวงพ่อพูดว่าที่นี่มีเสือ มีตะขาบ มีแมงป่อง มันก็อยู่อย่างนั้นของมัน มันก็ไม่ทำร้ายเราได้ เพราะเราเอาชนะมันได้ อันนั้นน่ะเป็นภายนอกที่หลวงพ่อพูด เราข้ามไปฝั่งนั้นแล้ว มันก็แล้วเรื่องแล้วเราหมด ให้มันหมด อันนี้เขาเอิ้น (เรียก) ว่าโลกียธรรม ถ้าเราอยู่อย่างนี้ เมื่อเราไปแล้ว ตายแล้วก็เป็นโลกุตตรธรรม แต่ว่าเราอยู่ในโลกุตตรธรรม เพราะมันไม่มีการขัดแย้ง

ที่พูดให้ฟังก็นึกว่าจะจับไปปฏิบัติได้ คิดว่าอย่างนั้น ถ้าหากว่าพูดอย่างนี้ยังเอาไปปฏิบัติไม่ได้ ก็ โอ๊ะ...นาน พวกเราจึงจะเข้าใจ เพราะการพูดอย่างนี้มันไม่ค่อยมีโอกาส ไม่มีเวลา การพูดอย่างนี้ต้องเหมาะสมกับบุคคลที่ฟัง ถ้าคนยังไม่เหมาะสมกับการฟัง พูดก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นอันตราย เป็นอย่างนั้น คนใดชอบก็ต้องฟังเอาไปปฏิบัติ คนใดไม่ชอบก็แล้วไป เคยได้ยินไหม ศาสนาเชน นำล้างผลาญกัน นำฆ่ากัน เพราะไม่ชอบ นี่มันเป็นอย่างนี้ มันมีการขัดแย้งกัน อันนี้หลวงพ่อไม่ได้พูดอย่างนั้น คือว่า ดูสภาพแล้วคนพอเหมาะสม เป็นนักปฏิบัติสนใจกันจริงไหม ถ้าหากไม่เป็นนักปฏิบัติไม่สนใจ พูดแล้วก็เสียเวลา เหนื่อย คนฟังก็เหนื่อย ก็ไม่ได้ประโยชน์ทั้งสองทาง ถ้ามีคนสนใจฟัง เราก็พูดเพื่อทำความเข้าใจกับเขา ให้เขาได้ทำหน้าที่ของเขาไปโดยตรง มันก็ได้ประโยชน์ทั้งคนพูด ได้ประโยชน์ทั้งคนฟัง

ดังนั้น การทำความรู้สึกตัวนั้นจึงมีอานิสงส์มาก ถ้าหากไม่รู้สึกตัวในขณะไหนเวลาใดแล้ว เรียกว่าคนหลงตนลืมตัว หลงกายลืมใจ คล้ายๆ คือเราไม่มีชีวิตนี่เอง เป็นอย่างนั้น เราก็เลยเรียกว่าสติ เผลอสติไปแล้ว เป็นอย่างนั้น แต่ไม่ต้องพูดอย่างนั้น เอาภาษาบ้านเราว่าอย่างหลงตน อย่าลืมตัว ใครจะพูดอะไรเป็นเรื่องของคำพูดของคน เราอย่าไปยึดไปถือ เราต้องพยายามดูใจเรา อย่าให้มีการขัดแย้งภายในจิตใจ ฝึกบ่อยๆ ฝึกบ่อยๆ ความเคยชินอันนั้นเกิดขึ้นมาเรียกว่าเหตุผล ฟังอันนี้ฟังแล้วมีเหตุมีผล ฟังแล้วไปปฏิบัติตาม เรียกว่าสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญา คือปัญญาญาณ ญาณของปัญญา ทำให้มันจนเกิดปัญญา จนมีญาณปัญญาเกิดขึ้น

บัดนี้พวกเราฟัง ฟังแล้วไปปฏิบัติตาม มันมีเหตุมีผล ไม่ต้องฟังแล้วเอาทิ้งไว้ที่ตรงนี้ อันนั้นมันไม่ได้ผล ที่หลวงพ่อพูดให้ฟังนี่ รับรองว่าทุกคนทำได้ นั่งอยู่เดี๋ยวนี้ก็ทำได้แล้ว แต่ว่าไม่รู้ในขณะที่เราโกรธขึ้นมา ในขณะที่เราโกรธขึ้นมาเราหลง เราไม่ได้รู้ตัวเรา จนมันโกรธแล้วเราจึงรู้ รู้ มันพอแล้ว มันตกนรกแล้ว พอมันเซามันหยุดแล้ว มันก็ไปสวรรค์ โกรธขึ้นมาก็ไปนรกอีกแล้ว นรกกับสวรรค์จึงอยู่ด้วยกัน โลกียธรรมกับโลกุตตรธรรมจึงไปสายเดียวกันแต่ไปไม่ถึง คนใดไปไม่ถึง คือสลัดการขัดแย้งไม่ได้ เขาเรียกว่าโลกียธรรม คนใดไปถึง สลัดการขัดแย้งได้ เขาว่าโลกุตตรธรรม คือไม่มีการขัดแย้งในใจ ใครจะพูดอะไรเป็นเรื่องของคนนั้น เขาเรียกว่าโลกียธรรม แต่ว่าคนยังกินข้าว ทำการทำงานตามหน้าที่ แต่ไม่มีการขัดแย้ง เขาเรียกว่าโลกุตตรธรรม ไม่ใช่จะเป็นแต่พระสงฆ์องค์เจ้า ไม่ใช่จะเป็นแต่ญาติแต่โยม เป็นเหมือนกันหมด จึงว่าเมื่อคนใจรู้แล้วสงวนลิขสิทธิ์ไม่ได้ คนใดรู้แล้วจะทำลายก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นอยู่อย่างนั้น แต่ไม่ต้องทำอะไร ให้ว่าอย่างนั้น นี่พอจะเข้าใจ พอแล้ว

ที่หลวงพ่อได้ให้ข้อคิดมา เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ วันนี้ก็นึกว่าสมควรแก่เวลาแล้ว ท้ายที่สุดนี้ อาตมา พร้อมด้วยพระสงฆ์และญาติโยมมานั่งฟังธรรมะอยู่ ณ ที่นี่ อาตมาขออ้างอิงเอาคุณของพระพุทธเจ้า และพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคุณของพระอรหันตสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเตือนจิตสะกิดใจของพวกเรา ให้พวกเราได้พบ ได้เห็น ได้รู้ ได้เข้าใจ อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ว่า สัตว์ทั้งหลาย เราผู้เป็นตถาคตไปถึงแล้วแห่งนั้น แล้วจึงนำมาสอนพวกเธอทั้งหลาย ให้พวกเธอทั้งหลายจงประพฤติปฏิบัติตามอย่างเราตถาคตนี้ ก็จะรู้ จะเห็น จะเป็น จะมีอย่างเราตถาคตนี้ ไม่ใช่แข้งขาหน้าตามือเท้าเป็นพระพุทธเจ้า อันเป็นพระพุทธเจ้า คือ จิตใจสะอาด จิตใจสว่าง จิตใจสงบ จิตใจบริสุทธิ์ จิตใจผ่องใส จิตใจว่องไว นั้นแหละคือจิตใจของพระพุทธเจ้า ก็มีในคนทุกคน ไม่มียกเว้นเลย จึงว่าพระพุทธเจ้าไม่มีตัวไม่มีตน ถ้าเราจับเอาอันนั้นมาใช้ได้ เราก็ต้องเป็นโลกุตตรธรรม เราก็ไม่ใช่เป็นพระพุทธเจ้าแต่เป็นสาวกพุทธะ ทำตามพระพุทธเจ้า ก็ต้องให้รู้ตาม เห็นตาม ถ้าไม่รู้ตาม เห็นตาม ก็เรียกว่า เป็นการเดินสวนทางกันกับพระพุทธเจ้า ขอให้พวกเราได้พบได้เห็นเอาในชีวิตนี้ หรือเวลาอันใกล้นี้จงทุกๆ คนเทอญ.


( หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ : เริ่มต้นชีวิตใหม่ )