introduction2.mp3

ปรับความเข้าใจในคำสอนของหลวงพ่อเทียน ๒

วันนี้จะตอบเรื่องที่มีคนมาถามนะคะ คือ เรื่องภาวะเชือกขาด ต่างเก่าล่วงภาวะเดิม เรื่องนิพพานชั่วขณะ ที่เขาได้ยินมาและก็สงสัยว่าทำไมไม่เหมือนที่เขาได้ยินจาก การอ่านการฟังหลวงพ่อเทียนพูดนะคะ และก็นอกจากนั้นยังมีลูกศิษย์หลวงพ่อเทียนที่เป็นฆราวาสใกล้ชิดหลวงพ่อหลายคนมาบ่นให้ดิฉันฟังว่าที่พูดที่สอน กันทุกวันนี้มันช่างห่างไกลจากของเดิมของหลวงพ่อ อีกหน่อยจะเหลือของแท้อีกสักเท่าไหร่ เรื่องนี้ดิฉันก็ขอตอบว่าถ้าศรัทธาเชื่อถือหลวงพ่อเทียนจริงๆ ก็ควรเลิกฟังคนที่พูดต่างจากหลวงพ่อ แต่ควรอ่านหนังสือหลวงพ่อ ฟังซีดีที่หลวงพ่อสอนให้มากๆ ให้เป็นสิบๆ ครั้งเลย จนเข้าใจและจำได้แม่น ถ้าภายหลังไปได้ยินใครพูดเกี่ยวกับเรื่องวิธีปฎิบัติ เรื่องปัญญาและความเข้าใจจากการปฎิบัติ เรื่องญาณวิปัสสนา เรื่องการพบสภาวะต่างๆ หรือการบรรลุธรรมของหลวงพ่อเทียน ก็จะได้รู้ว่าคนนั้นน่ะเขาเดินตามหลวงพ่อหรือเปล่า และนั่นเป็นเส้นทางของหลวงพ่อเทียนจริงหรือไม่ ใครพูดเรื่องนี้เราต้องใช้สติปัญญาในการฟัง ไม่ใช่ใครพูดอะไรก็เชื่อตะพึดตะพือ นี่เป็นสำนวนหลวงพ่อนะคะ ถ้าเชื่อและเดินตามคนไม่รู้จริงเราก็จะถูกจูงไปเข้ารกเข้าพงโดยเราไม่รู้ตัว สมัยนี้คนสนใจและกระหายที่จะฟังธรรมะจากผู้รู้ แต่ด้วยความที่ตัวเองไม่มีปัญญาเป็นของตัวเอง พอมีใครกล้าพูด กล้าสอน กล้าแสดงออก คนก็พากันฟัง และก็เชื่อไปเลย

ดิฉันจะขอเริ่มตอบคำถามเรื่องภาวะเชือกขาดเป็นข้อที่ ๑ นะคะ คำว่า“เชือกขาด”เป็นอุปมาของหลวงพ่อเทียน ท่านไม่ได้เรียกว่าภาวะเชือกขาดนะคะ ท่านเรียก"เชือกขาด"เฉยๆ ท่านบอกว่ารู้ธรรมะมันต้องเป็นอย่างนี้ และท่านก็ยกตัวอย่างเรื่องเอาเชือกมาผูกที่เสา ๒ ต้น แล้วเอามีดตัดตรงกลาง ภายหลังจะเอาเชือกที่ถูกตัดแล้วมาผูกกันมันจะดึงมาไม่ถึงกัน คนฟังก็ตีความกันไปต่างๆ นานา แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไร ลูกศิษย์หลวงพ่อเทียนสมัยนั้นรู้แต่ว่า"เชือกขาด" คือ การถึงที่สุดของทุกข์ เวลาเราพูดกันก็จะใช้คำนี้แทนคำว่าถึงที่สุดของทุกข์ เมื่อปี ๒๕๓๐ หลวงพ่อให้ดิฉันช่วยเขียนบทความเรื่องสมถะ- วิปัสสนา ตอนท้ายของบทความท่านบอกให้เขียนว่า “อายตนะภายนอกและอายตนะภายในติดต่อกันไม่ได้อีกต่อไป” ประโยคนั้นทำให้ดิฉันประทับใจอย่างยิ่งในคำคมของหลวงพ่อ ดิฉันบอกท่านว่า”ประโยคนี้หนูชอบจังเลยค่ะ” ภายหลังดิฉันจึงได้เอาประโยคนี้มาเขียน มาพูดเสมอ เพื่อให้คนได้ยิน ได้ฟังคำพูดของผู้รู้ให้ติดหู ติดตาอยู่เสมอ

คนที่จะพูดเรื่อง"เชือกขาด"ต้องรู้และทำความเข้าใจให้ดีว่ าคำนี้เป็นของสูง ไม่ใช่เอาคำนี้มาใช้อย่างมักง่าย ฟุ่มเฟือย ขอร้องนะคะว่า อย่าเอาของสูงมาพูดเป็นของต่ำ อย่าเอาของต่ำมาพูดเป็นของสูง

ดิฉันไม่เคยได้ยินคำว่าภาวะเชือกขาดจากปากหลวงพ่อเลย เคยได้ยินแต่ “สภาวะอาการเกิด-ดับ” คำที่หลวงพ่อใช้เรียกสภาวะทุกคำเป็นปรมัตถ์ เป็นของจริง แต่"เชือกขาด"เป็นคำอุปมาไม่ใช่สภาวะ ไม่ใช่ปรมัตถ์ เป็นคำอุปมาเรื่องอายตนะภายนอกและอายตนะภายในติดต่อกันไม่ได้อีกต่อไป เพราะสังขารขันธ์ถูกทำลายแล้ว แต่ก็ยังมีขั้นตอนอื่นอีก ซึ่งเป็นผลจากการเห็นต้นกำเนิดของความคิดทั้งสิ้น

คำถามข้อที่ ๒ ที่มีคนถามก็คือ “ต่างเก่าล่วงภาวะเดิม”หมายถึงอะไร ต่างจากเก่าแค่ไหน เอ้อ...ดิฉันจะขออธิบายว่า ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าใจรูป-นาม หรือเข้าใจอารมณ์สมมติ ก็จะเริ่มทิ้งและปล่อยวางความงมงาย เมื่อเข้าใจเรื่องสมมติก็จะอยู่กับสมมติได้โดยไม่ยึดติด เมื่อเข้าใจเรื่องทุกขัง อนิจจัง อนัตตา หรือที่เรียกว่าไตรลักษณ์ได้ ใจก็จะค่อยๆ ยอมรับเรื่องนี้ และอยู่กับมันได้โดยไม่เดือดร้อน หรือไม่ทุกข์ นี่คือการเปลี่ยนแปลงหรือต่างเก่าระยะต้นๆ พอถึงขั้นเข้าใจอารมณ์ปรมัตถ์แล้ว กิเลส ตัณหา อาสวะจะค่อยๆจางคลายไปตามขั้นตอนของปัญญาที่ตัวเองเห็น รู้ เข้าใจ จิตใจจะเปลี่ยนเป็นครั้งเป็นครั้งไป มันจะต่างเก่าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตใจเปลี่ยนครั้งที่ ๕ เป็นครั้งสุดท้ายจึงจะต่างเก่าล่วงภาวะเดิม หมายความว่าจิตใจเปลี่ยนจากความเป็นมนุษย์ปุถุชนคน ธรรมดาที่มีกิเลส ตัณหา อาสวะ และอวิชชา มาเป็นอริยบุคคลผู้รู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องชีวิตจิตใจ มีการเปลี่ยนแปลงในจิตใจต่างจากคนเก่าอย่างสิ้นเชิง คำว่า"ต่างเก่าล่วงภาวะเดิม"ของหลวงพ่อ คือ การรู้ การเห็น การเป็น การมี พวกคุณคงเคยได้ยินหลวงพ่อพูดในเทปหรือซีดีบ่อยๆนะคะ หลวงพ่อพูดว่า”ถ้ายังไม่เป็น อย่าคิดหรือเข้าใจผิดว่าตัวเองรู้” นี่เป็นข้อคิดหรือคำเตือนจากหลวงพ่อเทียนสำหรับคนที่ยังไม่ได้พบสภาวะอย่างหลวงพ่อเทียน ยังไม่เป็นอย่างหลวงพ่อเทียน จงอย่าเข้าใจผิดว่าตัวเองรู้หรือบรรลุแล้ว เพราะมันเป็นการอวดอุตริมนุสธรรม บางคนปฏิบัติไปๆ แล้วได้พบสภาวะอะไรบางอย่างจริงๆ แต่สิ่งที่พบนั่นอาจจะไม่ใช่สภาวะที่หลวงพ่อเทียนพูดถึง ที่สำคัญที่สุดคือมันต้องเป็น เพราะการเข้าถึงธรรมของหลวงพ่อน่ะ มีขั้น มีตอน หลวงพ่อเน้นเรื่อง การเป็น แสดงว่ามันมีจริง หลวงพ่อจะสอบอารมณ์โดยให้ลูกศิษย์เป็นคนพูดเองหรือเล่าเอง ท่านไม่ถามนำ เมื่อท่านฟังแล้วท่านสามารถบอกได้ว่าผู้นั้นเข้าถึงธรรมจริงหรือไม่ หรือเข้าใจผิด การปฏิบัติธรรม การเข้าถึงธรรม การรู้แจ้งหรือการได้พบนิพพานไม่ใช่เรื่องเอาไว้คุยโอ้อวดเพื่อให้ได้รับคำสรรเสริญเยินยอจากผู้อื่น มันเป็นเรื่องส่วนตัวเพื่อการพ้นทุกข์เท่านั้น เมื่อตัวเองพ้นไปได้แล้ว ก็เอาวิธีปฏิบัติมาแนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม เพราะเขาต้องรู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง

ส่วนคำถามข้อที่ ๓ ที่ถามว่าภาวะเชือกขาดและการต่างเก่าล่วงภาวะเดิมเป็น นิพพานชั่วขณะใช่ไหม

เอ้อ...ข้อนี้ดิฉันจะตอบนะคะว่านิพพานหมายความว่าอะไร ไปหาอ่านได้ในหนังสือ"นิพพาน"ของหลวงพ่อเทียน หรือหนังสือ"ทวนกระแสความคิด"ของดิฉัน ในบท"หนทางสู่นิพพาน" คือดิฉันจะได้ไม่ต้องอธิบายว่านิพพานคืออะไร หมายความว่าอย่างไร ภาวะเชือกขาดและต่างเก่าล่วงภาวะเดิมไม่ใช่นิพพาน สิ่งที่หลวงพ่อเทียนเรียกว่า เป็น นั่นแหละสำคัญมาก เมื่อเป็นแล้วจะได้พบและสัมผัสกับนิพพาน เพราะนิพพานมีอยู่แล้ว แต่เราจะปฏิบัติจนได้พบมันหรือเปล่าเท่านั้นเอง


อัญชลี ไทยานนท์

๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๕

คนเกิดมาร้อยวันพันปีก็ตาม ถ้าหากว่าไม่ได้พบ "สภาพหรือสภาวะอาการเกิด- ดับ" ถือว่าชีวิตของคนนั้นเป็นหมัน เป็นโมฆะ ไม่มีค่า ไม่มีราคา
(หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ)